!-- AdAsia Headcode -->

ทำไม? การถูก BULLY ถึงสร้างบาดแผลในใจจนมีจุดจบถึงชีวิต

24 พฤศจิกายน 2565, 16:16น.


      การกลั่นแกล้ง (Bullying) หรือการบูลลี่ คือ การแสดงออกทางพฤติกรรมที่รุนแรง เป็นการกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น ที่เกิดขึ้นได้ทั้งทางคำพูดดูถูก เหยียดหยาม และการทำร้ายร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการล้อเลียนรูปร่างหน้าตา สีผิว การแต่งกาย สถานะทางสังคม การเงิน เพศสภาพที่หลากหลาย ทำให้ผู้อื่นเสียหาย อับอาย และเป็นทุกข์

      จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ในปี 2563 เผยว่าประเทศไทยติดอันดับการบูลลี่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนในปี 2565 นี้ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับ COPAT ได้สำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ พบว่า เด็กอายุ 9-18 ปี ถูกบูลลี่ กลั่นแกล้ง ร้อยละ 26 ซึ่งพบในเด็กที่เป็นเพศทางเลือกมากที่สุด 2 ใน 5 คน ในแต่ละปีมีนักเรียนตกเป็นเยื่อของการถูกรังแกมากกว่า 3.2 ล้านคน อีกทั้งมีเด็กและเยาวชนประมาณ 160,000 คน ถูกกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแก จนถึงขนาดไม่กล้าไปโรงเรียน

สาเหตุที่ทำให้เกิดการ Bully

ปัจจัยด้านชีวภาพ

บางคนอาจจะมีปัญหาด้านการผลิตฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรามีความสุขเวลาเข้าสังคม ได้รับการยอมรับ หากฮอร์โมนประเภทนี้ขาดหายก็อาจจะทำให้มีความเห็นอกเห็นใจในคนอื่นน้อยลง

ปัจจัยด้านจิตวิทยา

เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เสี่ยงต่อพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแกผู้อื่น เช่นการที่มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ด้อยค่าตัวเองลงไป เมื่อมองว่าตัวเองไม่ได้ดีเท่าคนอื่น จึงเกิดความไม่ชอบใจเมื่อเห็นคนอื่นมีข้อดีมากกว่าตนเอง สำหรับบางคนที่ไม่รู้วิธีการจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ ทำให้เลือกมองหาวิธีการที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองดีกว่าคนอื่นๆ โดยการกดคนอื่นให้ต่ำกว่าตนเอง

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

บางคนที่เคยถูกกลั่นแกล้งมาก่อน มักเก็บความรู้สึกเจ็บปวดอยู่ในใจ ยิ่งถ้าเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูที่ใช้ความรุนแรง ไม่ดูแลเอาใจใส่ หรือการอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีความก้าวร้าวและชอบใช้ความรุนแรง ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เขาซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงเหล่านั้น และต้องการที่จะระบายความโกรธแค้นออกมาโดยการแกล้งผู้อื่น

ปัจจัยด้านสังคม

การอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนค่านิยมต่างๆ หรือแม้แต่ความพิการ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้ง เพียงแค่พวกเขามีความแตกต่างจากคนอื่น อาจเริ่มจากการล้อเลียน ดูถูก รังแก โดนเลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกับคนอื่น ทำเหมือนว่าพวกเขาไม่ใช้คน

      ซึ่งการบูลลี่ส่วนใหญ่นั้น มักเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ หรือที่เราเรียกว่า Cyberbully เรามักจะเห็นการบูลลี่ประเภทนี้ตามสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งการถ่ายคลิป ลงรูปภาพ การแสดงความคิดเห็น เพราะตัวอักษรนั้นเป็นสื่อกลางที่สามารถสนองความต้องการภายในจิตใจได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตน คนที่ชอบบูลลี่ส่วนใหญ่มักใช้สื่อกลางนี้ในการระบายอารมณ์เวลาที่ไม่ชอบใคร ไม่พอใจใคร หรืออยากทำร้ายใครสักคน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ผู้ที่บูลลี่จะรู้สึกสนุก สะใจ สบายใจ เพราะตัวเองได้ระบายอารมณ์เกลียดชังเหล่านั้นออกมา แต่หารู้ไม่ ความรู้สึกสนุกเพียงเวลาสั้นๆที่ตัวเองได้ทำลงไปนั้น แม้จะเป็นแค่การพิมพ์ก็สามารถทำลายชีวิตของคนๆหนึ่งได้ หากเรื่องราวเหล่านั้นเกิดทำร้ายจิตใจผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมได้ จุดจบที่แสนเศร้าของเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว

      นอกจากการบูลลี่บนโลกออนไลน์แล้ว การบูลลี่ในสังคมอย่างเช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นการบูลลี่ที่รุนแรงปละกระทบต่อจิตใจมากที่สุด เนื่องจากเด็กในช่วงวัยเรียน เริ่มมีการพัฒนาทางด้านร่างกาย สมอง ความคิด และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ยิ่งในปัจจุบันนี้การใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นอิสระมากขึ้น การเสพสื่อที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลให้เด็กเกิดการเลียนแบบ เช่น การล้อเลียน ดูถูกเหยียดหยาม การแสดงท่าทีให้ตัวเองดูเหนือกว่าผู้อื่น ข่มขู่ รุมแกล้งไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ซึ่งเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้เด็กที่ถูกบูลลี่มีแผลในใจ มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อการเรียน การใช้ชีวิต และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างรุนแรงไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

      อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบูลลี่ให้หมดไปได้ เพราะโดยพื้นฐานแล้วการบูลลี่ล้วนเกิดจากการขาดการปลูกฝังความคิดและทัศนคติที่ถูกต้อง การที่เราจะเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องทำให้พวกเขาเข้าใจและตระหนักถึงผลของการกระทำที่พวกเขาได้ทำลงไป ว่ามีผลดีและผลเสียอย่างไร ควรแก้ไขปัญหายังไง ส่วนคนที่ถูกกระทำนั้น เชื่อวามันเป็นเรื่องยากที่จะบอกให้ใครสักคนเข้าใจ แต่การที่ได้ปรึกษาใครสักคนที่ไว้ใจได้ โดยเฉพาะครอบครัว จะมีส่วนช่วยให้เราสามารถหาทางออกกับปัญหานี้ได้ หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติม

X