EVALI โรคร้ายอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า

18 พฤศจิกายน 2565, 17:15น.


      EVALI (E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury) หรือ โรคปอดอักเสบรุนแรง ที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายแต่ในความเป็นจริงแล้ว ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เห็นมีฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 และ PM 2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล และอโครลิน และโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก ตะกั่ว ซึ่งที่มาของโลหะหนัก มาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา

อาการที่บ่งชี้ว่าเสี่ยงเป็นโรค EVALI


- มีไข้ หนาวสั่นคล้ายติดเชื้อ 

- หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย

- บางคนก็มีอาการทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย 

- ปอดเป็นฝ้าขาว พบไขมันในน้ำล้างปอด


      จากการสำรวจและรายงานขององค์การอนามัยโลก(WHO)เกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนของไทย พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 6-7% ใน 5 ปีก่อน กลายเป็นมากกว่า 10%ในปัจจุบัน

      แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ที่ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยกระบวนการเผาไหม้ของบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่เหมือนการเผาไหม้ของบุหรี่ปกติทั่วไป มีส่วนช่วยให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัวจากบุหรี่จริง เช่นน้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่ขึ้นชื่อว่าบุหรี่ ยังไงก็มีอันตรายไม่ต่างกัน

      บุหรี่ไฟฟ้ามีความแตกต่างจากบุหรี่มวน เพราะมีตัวเครื่องและแบตเตอรี่ ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา ซึ่งในน้ำยามีสารประกอบดังนี้

- นิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่


- โพรไพลีนไกลคอล เป็นส่วนประกอบในสารสำหรับการทำให้เกิดไอ

- กลีเซอรีน เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมผสานกับสารโพรไพลีนไกลคอล ใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย

- สารแต่งกลิ่นและรส เช่น น้ำอัดลม ผลไม้ ของหวาน 

      หลายคนเข้าใจผิดว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ ซึ่งความคิดนี้บางคนสามารถทำได้จริง แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ และมีโอกาสกลับมาสูบบุหรี่มวนเหมือนเดิม ซึ่งหากคุณอยากเลิกบุหรี่จริงๆ มีวิธีอื่นที่สามารถทำได้ เช่น

- การออกกำลังกาย

- หาหมากฝรั่ง ลูกอม ขนม ติดกระเป๋า เพื่อคบเคี้ยวเวลาอยากบุหรี่

- อยู่ห่างจากคนที่สูบบุหรี่หรือสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่อยู่ 

- อย่าละความพยายามในการเลิกบุหรี่ 

- โทรปรึกษา สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 


ที่มา : BANGKOK HOSPITAL

X