ถังดับเพลิงมีกี่ชนิด? ไฟไหม้แบบนี้ควรใช้ถังแบบไหน?

16 พฤศจิกายน 2565, 17:38น.


      ไฟไหม้หรืออัคคีภัย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งอุบัติเหตุ ไฟฟ้าลัดวงจร การเผาขยะ ฯลฯ ที่ก่อให้เกิดประกายไฟฟ้าและมีพาหะนำไฟ ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้นี้นับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นมา หากควบคุมเพลิงไม่ได้ จะส่งผลให้เกิดการลุกลามไปบริเวณต่างๆ ยิ่งถ้าเป็นที่อยู่อาศัยที่มีพาหะนำไฟ เช่น ไม้ กระป๋องสารเคมี ผ้า หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆที่เสี่ยงต่อการทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร จะยิ่งสร้างความสูญเสียแก่ทรัพย์สินและส่งผลถึงแก่ชีวิตได้

      การใช้ถังดับเพลิงจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่รวดเร็วและช่วยให้ไฟสงบลง หากไฟไหม้นั้นไม่ได้ลุกลามเป็นวงกว้าง ซึ่งการเลือกซื้อถังดับเพลิงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการดับไฟของเชื้อเพลิงในอาคาร ซึ่งถังดับเพลิงแต่ละชนิดจะบรรจุสารภายในถังที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถดับเพลิงแต่ละประเภท รวมถึงขนาดที่เหมาะสมกับการเลือกใช้ตามขนาดของพื้นที่นั้นๆ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ดับเพลิงอย่างถูกต้องและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ประเภทของถังดับเพลิง

1.ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Extinguishers)

ถังดับเพลิงประเภทนี้บรรจุผงเคมีแห้งและอัดก๊าซไนโตรเจนที่สามารถระงับปฏิกิริยาเคมีของการเกิดเพลิงไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฝุ่นผงเคมีขัดขวางการลุกไหม้ของออกซิเจนกับเชื้อเพลิง

เหมาะสำหรับการดับเพลิงได้หลายรูปแบบ ใช้ในอาคารพักอาศัย บ้าน โรงงานอุตสาหกรรม

2.ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย HCFC-123 (Halotron Extinguishers)

ชนิดสารเคมีเหลวที่มีความเย็นจัดเมื่อฉีดออกมาจะเป็นไอระเหย ทำหน้าที่กำจัดความร้อนและขัดขวางการเผาไหม้ออกซิเจนและไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้าโดยไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังดับ

เหมาะกับการใช้งานในห้องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรือ เครื่องบิน

3. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม (Foam Extinguishers)

เมื่อฉีดออกมาแล้วจะเป็นฟองโฟมกระจายปกคลุมเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ทำให้ไฟขาดออกซิเจนและลดความร้อน รวมถึงการปกปิดพื้นผิวของของเหลวอย่างน้ำมันได้ดี ใช้ดับเพลิงได้ทุกรูปแบบยกเว้นเพลิงไหม้ที่เกิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่ เนื่องจากโฟมมีส่วนผสมของน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า

เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงและสารระเหยติดไฟ ที่พักอาศัย ปั๊มน้ำมัน ยกเว้น เพลิงไหม้ที่เกิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่

4. ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide (CO2) Extinguishers)

ถังดับเพลิงประเภทนี้จะบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เมื่อฉีดออกมาแล้วจะมีลักษณะเป็นไอเย็นจัดของน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) ปกคลุมบริเวณที่เกิดเพลิงลุกไหม้ ช่วยให้ลดความร้อนและดับไฟได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงไม่ทิ้งคราบสกปรก สามารถใช้ดับเพลิงที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวติดไฟ เช่น น้ำมัน ก๊าซ และเพลิงที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า

เหมาะสำหรับโรงงานที่มีไลน์การผลิตขนาดใหญ่ โรงอาหาร ห้องเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

5. ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water Extinguishers)

ถังดับเพลิงชนิดน้ำ เหมาะสำหรับการดับเพลิงไหม้จากเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ขยะพลาสติก เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของเชื้อเพลิงที่เป็นวัตถุของแข็ง

เหมาะสำหรับการใช้ดับเพลิงในอาคารที่พักอาศัย เรือ เป็นต้น

6. ถังดับเพลิงชนิด Wet Chemical Class K

ถังดับเพลิงชนิดนี้บรรจุ Potassium Acetate ใช้ดับเพลิงประเภท K (Combustible Cooking) เพลิงไหม้ประเภทที่เกิดกับเครื่องครัว ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่พบได้จากน้ำมันที่ใช้ในครัว ไขมันสัตว์ ไปจนถึงของเหลวที่ใช้ในการประกอบอาหาร

เหมาะสำหรับใช้ในห้องครัว และร้านอาหาร

ที่มา : HARN Engineering Solutions

X