ในปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบมากมายจากภัยธรรมชาติ สังเกตุได้จากสถานการณ์ในหลายวันที่ผ่านมา การจราจรบนท้องถนนทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่างก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดทั่วเมืองกรุง ไปจนถึงต่างจังหวัด ที่ชางบ้านต่างก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนของตนเองและพบกับปริมาณฝนที่ตกในทุกๆวัน สาเหตุมาจากปริมาณฝนสะสมมากกว่าปกติจากปีที่แล้ว และคาดว่าประเทศไทยในปีนี้จะมีปริมาณฝนตกหนักมากขึ้น และระยะเวลายาวขึ้น ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2565 พายุ อาจจะเข้าไทย 2-3 ลูก จากข้อมูลที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ มีโอกาสฝนตกหนักในรอบ 100 ปี หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ฝน 100 ปี อาจเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่มากกว่าและรุนแรงกว่าปี 2554 เหมือนกับสถานการณ์ฝนตกหนักที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นฝนในรอบ 80 ปี สาเหตุสำคัญมาจากโลกร้อนขึ้น ปรากฎการณ์ลานิญา และฤดูของลมมรสุมที่พัดผ่านเข้าประเทศ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มี 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ปริมาณฝนสะสมช่วงก่อนฤดูฝนมากกว่าค่าปกติ
2. ปรากฏการณ์ลานีญายังทรงพลังช่วงปลายปีทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าฝั่งตะวันออก ความชื้นสูง
3. ปรากฏการณ์ไอโอดีเป็นลบทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียสูงกว่าฝั่งตะวันตก ความชื้นสูง
ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรง หรือเบาลงประกอบไปด้วย
1. จำนวน ทิศทาง และความรุนแรงของพายุจรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (โดยในปีนี้มีการคาดการณ์จะเกิดพายุ 23 ลูก ช่วงครึ่งปีแรกเกิดแล้ว 8 ลูก ยังเหลืออีกประมาณ 15 ลูก)
2. ความสามารถรับน้ำของลุ่มน้ำลดลง บีบให้ระดับน้ำสูงขึ้น (เช่นปีที่แล้วในภาคกลางปริมาณน้ำมีน้อยกว่าปี 2554 ประมาณ 20% แต่ระดับน้ำสูงเท่าหรือมากกว่า)
3. การเตรียมความพร้อม และความเข้าใจภาคครัวเรือนในพื้นที่เสี่ยง (เพื่อให้องค์ความรู้ และความตระหนัก จัดการความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง)
4. ความขัดแย้งภาคประชาชนในพื้นที่เสี่ยง (มีการประกอบอาชีพ ทำนา ทำไร่ หรืออาชีพอื่นๆ การจะเอาน้ำจากที่หนึ่งไปเก็บในอีกที่หนึ่ง เช่นแก้มลิงหรือประตูน้ำต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบกับการทำมาหากินของเขาเหล่านั้น)
5. การบริหารจัดการเอาอยู่หรือไม่ (การประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชี้แจงมาตรการต่าง ๆ ต่อภาคประชาชนในการลดผลกระทบต่อพื้นที่เสี่ยง)
ปัจจุบันโลกของเรามีภาวะโลกร้อนที่กำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและระบบนิเวศ เพราะยิ่งอุณหภูมิโลกสูงขึ้น ยิ่งเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์ ทำให้น้ำมีแนวโน้มที่จะระเหยไปในอากาศมากขึ้นและทำให้เกิดฝนตก จากข่าวน้ำท่วมที่ประเทศเกาหลีใต้ จนล่าสุดเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ประเทศปากีสถาน ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1,000 ราย เนื่องจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้ธารน้ำแข็งเริ่มละลาย น้ำแข็งขั้วโลกเริ่มสลายและละลายในทุกวัน ไปจนถึงชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ที่เริ่มอุ่นขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
ปรากฎการณ์ฝนตกหนักเริ่มเกิดขึ้นให้เห็นโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการและจังหวัดที่ใกล้กับทะเล เพราะน้ำจากทะเลและมหาสมุทรเริ่มระเหยกลายเป็นเมฆบนท้องฟ้า เมื่อมีปริมาณมากจะรวมตัวกลายเป็นเมฆฝนครึ้มลอยเข้าฝั่งตามทิศทางลม หากลมแรงขึ้นแล้วมาเจออากาศที่เย็นกว่าจะอาจเกิดการกลั่นตัวกลายเป็นฝนตกลงมา ยิ่งผสมกับสภาวะลานีญาซึ่งเป็นภาวะที่น้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิคร้อนขึ้น สิ่งนี้จึงทำให้เกิดเมฆฝนในมหาสมุทรและมีฝนตกหนักมากขึ้นไปอีก หากเกิดพายุโซนร้อนหรือพายุดีเปรสชั่นหรือความกดอากาศต่ำเพิ่มเข้ามา จะยิ่งทำให้ฝนตกบนฝั่งรุนแรงมากขึ้นหลายเท่าตัว
อย่างไรก็ตามแม้ในตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าฝนจะตกลงมารุนแรงขนาดไหน จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในจุดไหนบ้าง ขอให้ทุกคนเริ่มเฝ้าระวังตัวเอง หากบ้านเรือนมีพื้นที่ต่ำควรขนย้ายของไปไว้ชั้นบน เก็บของมีค่าให้ดี รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดไฟช็อต หรือไฟฟ้าลัดวงจรได้ ควรหาที่เก็บไว้ในที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันอันตราย และสิ่งสำคัญคือต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด