กัญชา พืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่ใช้ในทางการแพทย์ กิจกรรมนันทนาการ และการวิจัย ที่นิยมใช้กัน เพื่อความสุช สนุกสนานและรักษาโรค ถึงแม้ว่ากัญชาจะถูกกฎหมายในหลายประเทศแล้วก็ตาม แต่ในบางประเทศนั้น ยังคงมีกฎหมายที่ห้ามนำกัญชาเข้าประเทศอย่างเข้มงวด ไม่เว้นกัญชาทางการแพทย์ หากฝ่าฝืนกฎ มีโทษทั้งจำคุกและเสียค่าปรับ ไปจนถึงโทษสูงสุดคือการประหารชีวิต ประเทศที่ควรระมัดระวังห้ามนำกัญชาเข้าประเทศ ได้แก่ 31 ประเทศ ดังนี้
สิงคโปร์
- มีไว้ครอบครองหรือเสพ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ
- กรณีลักลอบค้า/นำเข้า/ส่งออก โทษจำคุก 5-14 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
เวียดนาม
- ห้ามใช้ทั้งในทางการแพทย์และใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง มีโทษปรับ ตั้งแต่ 5,000,000 – 500,000,000 ดอง และจำคุกตั้งแต่ 2 ปี - จำคุกตลอดชีวิต ไปจนถึงโทษประหารชีวิต
สหราชอาณาจักร
- ห้ามการนำเข้ากัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารสกัดของพืชดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 – 14 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
เกาหลีใต้
- กรณีลักลอบนำเข้าโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือตลอดชีวิต
- กรณีปลูกหรือจำหน่าย จำคุกอย่างน้อย 1 ปี
- กรณีมีไว้ครอบครองหรือเสพ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกเนรเทศและห้ามเดินทางเข้าเกาหลีใต้อีก
ญี่ปุ่น
- มีไว้ในครอบครองเพื่อนำเข้าและส่งออก โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
- มีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- ถูกยึดและทำลายแทนโดยไม่มีการลงโทษสำหรับการครอบครองครั้งแรก และจะถูกดำเนินคดีหากทำความผิดซ้ำ แต่ผู้ที่ครอบครองบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารสกัดจากกัญชา เช่น น้ำมัน CBD จะยังคงถูกดำเนินคดีทางอาญาต่อไป
ออสเตรเลีย
- การนำเข้ามาในประเทศโดยมิชอบด้วยกฎหมายของ NSW ถือเป็นความผิด มีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต
บังกลาเทศ
- โทษแตกต่างกันไปตามปริมาณที่นำเข้าหรือครอบครอง โทษสูงสุดคือประหารชีวิต (กรณีนำเข้าหรือมีไว้ในครอบครองมากกว่า 2 กิโลกรัม)
ภูฏาน
- โทษจำคุกระหว่าง 1 เดือน – 3 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณที่นำเข้าหรือครอบครอง
- กรณีสกัดกัญชาเพื่อจำหน่ายและมีไว้ครอบครอง มากกว่า 50 กรัมขึ้นไป มีโทษจำคุกระหว่าง 5 – 9 ปี
อินโดนีเซีย
- หากฝ่าฝืน มีโทษตามกฎหมายอินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ จำคุก 5 ปี หรือตลอดชีวิต ไปจึงถึงโทษสูงสุดคือ ประหารชีวิต
จอร์แดน / อิรัก และปาเลสไตน์
-ผู้ใดมีไว้ในครอบครองหรือเสพ ถือว่าผิดกฎหมายและต้องได้รับโทษอย่างรุนแรงตามกฎหมายท้องถิ่น
ศรีลังกาและมัลดีฟส์
- มีโทษปรับและจำคุก โทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต
เนปาล
- โทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือน - 10 ปี โทษปรับ 2,000- 900,000 รูปี
บรูไนฯ
- โทษจำคุกอย่างต่ำ 20 ปี สูงสุด 30 ปี และโบย 15 ครั้ง หรือโทษประหารชีวิต (กรณีลักลอบนำเข้า)
กัมพูชา
- โทษปรับ 100 ล้านเรียล โทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต
เซเนกัล, โกตดิวัวร์, บูร์กินาฟาโซ, กินี, กินี-บิสเซา, มาลี, แกมเบีย, เซียร์ราลีโอน, โตโก, กาบอง, กาบูร์เวร์ดี, ไลบีเรีย, ไนเจอร์
- โทษตามกฎหมายประเทศนั้น ๆ ทั้งจำคุกและปรับ
ในประเทศไทย กัญชา ได้ถูกปลดล็อคไปตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ในทางการแพทย์ หรือการดูแลสุขภาพ ทำให้มีการซื้อขายกันอย่างแพร่หลายภายในประเทศกันมากขึ้น แต่ในบางประเทศยังคงเข้มงวดในเรื่องนี้ ถึงแม้สารในกัญชาจะมีคุณสมบัติมากมาย หากเราใช้อย่างถูกวิธีก็สามารถช่วยในเรื่องสุขภาพ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้ แต่ในทางกลับกันหากใช้ไม่ถูกวิธี ใช้ในปริมาณที่เกินความจำเป็น อาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายการ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย