รฟม. เตรียมดันไอเดียให้บริการข้อมูลแหล่งกินเที่ยวช้อปติดแนวรถไฟฟ้า MRT ด้วยเทคโนโลยี Metaverse สู่โครงการนวัตกรรมนำร่อง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรในโลกดิจิทัล

08 กรกฎาคม 2565, 18:51น.


   การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศผลผู้ชนะกิจกรรมวันนำเสนอผลงาน (Pitching Day) ภายใต้หลักสูตรโครงการนวัตกรรมนำร่อง (Innovation Pilot Project) ได้แก่ ทีม TransInnovation ซึ่งนำเสนอผลงานที่มีชื่อว่า “Metro Hip Hub” รวมแหล่งกินเที่ยวช้อปติดแนวรถไฟฟ้า เพื่อสร้าง Business Model Innovation ให้กับองค์กร โดยการนำเทคโนโลยี Metaverse เข้ามาใช้ในระบบบริการข้อมูล (Data Service) สำหรับผู้เดินทางในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า MRT ให้สามารถค้นหาจุดหมายปลายทางบริเวณโดยรอบสถานีที่เป็นภาพจำลองการเดินทางเสมือนจริงได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้ผู้สืบค้นได้รับข้อมูลที่ต้องการครบถ้วนในระบบเดียว อาทิ ทางออกจากสถานีที่ควรเลือกใช้ เส้นทางการเดินเท้าต่อจากสถานีไปยังจุดหมายปลายทาง ฯลฯ ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะมองว่า รฟม. มีทรัพยากรข้อมูลที่เกี่ยวข้องจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งสามารถเริ่มต้นดำเนินการเฟสแรกของโครงการนวัตกรรมนำร่องได้ทันที อีกทั้งการนำนวัตกรรมมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในการเดินทาง ตลอดจนช่วยให้ รฟม. เติบโตอย่างยั่งยืนในโลกดิจิทัลได้ด้วยเช่นกัน


   นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ รฟม. (ปฏิบัติการ)



ในฐานะประธานการจัดกิจกรรมวันนำเสนอผลงาน ได้แสดงความยินดีต่อทีมผู้ชนะ รวมถึงทีมนวัตกรต้นแบบของ รฟม. ทุกทีม ที่ต่างก็มีข้อดีเฉพาะตัวและนำมาต่อยอดเป็นไอเดีย แสดงพลังความคิดสร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่ โดยโครงการนวัตกรรมนำร่องนี้ก็จะกลายเป็นตัวอย่างสำหรับนวัตกรรมอื่นๆ ของ รฟม. ที่จะตามมาในอนาคตได้






   รฟม. เริ่มดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรต้นแบบ (MRTA Academy and MRTA Innovator) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 โดยร่วมมือกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดฝึกอบรมหลักสูตรโครงการนวัตกรรมนำร่อง (Innovation Pilot Project) ให้แก่ กลุ่มนวัตกรต้นแบบของ รฟม. ซึ่งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมวันคัดเลือกไอเดีย (Mini-Hackathon Day) จนได้ทีมที่ได้รับการคัดเลือกรวม 5 ทีม เพื่อไปพัฒนาไอเดียทางออกให้มีความชัดเจนในรายละเอียดมากขึ้น และกลับมาประชันกันอีกครั้งในกิจกรรมวันนำเสนอผลงาน (Pitching Day) นี้ โดยคณะที่ปรึกษาโครงการฯ และผู้บริหาร รฟม. ได้ร่วมเป็นกรรมการตัดสินผลงานจากทั้ง 5 ทีม จากเกณฑ์ผลกระทบต่อองค์กรและความยั่งยืน (Impact & Sustainability) ทั้งผลกระทบเชิงบวก/ประโยชน์ทางการเงิน และประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้น้ำหนักความสำคัญมากที่สุด ควบคู่กับเกณฑ์อื่นๆ ได้แก่ การระบุปัญหาที่ต้องการหาทางออก (Problem Statement) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในการหาไอเดียสำหรับทางออก (Idea for Solution) ความเป็นไปได้ในการใช้จริง (Viability & Practicality) รวมถึงการเล่าเรื่องและการนำเสนอ (Storytelling & Presentation) 



  หลังจากนี้ รฟม. มีแผนการจะนำผลงานไอเดียจากทีมผู้ชนะ เข้าสู่กระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงลึก ทั้งในแง่ของกฎหมาย เทคโนโลยี ประโยชน์ต่อประชาชนและต่อความยั่งยืนองค์กร ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อพัฒนาโครงการนวัตกรรมนำร่องให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th เฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044 “30 ปี รฟม. เชื่อมต่อเส้นทางสู่ความยั่งยืน Completing Connection, Mission for All”









X