เป็นที่ทราบกันดีว่าทางโค้งบนถนนรัชดาฯ หรือที่มักเรียกกันว่าเป็นโค้งร้อยศพที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยมากที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาอุบัติเหตุที่รุนแรงมายาวนานนับสิบๆปี แต่ก็ยังคงแก้ไขปัญหาไม่ได้ สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดของลักษณะทางกายภาพของทางโค้งที่ต่อเนื่องกันหลายโค้ง ทำให้ผู้ขับขี่ต้องพยายามควบคุมพวงมาลัยและใช้ความเร็วให้สัมพันธ์กับการเข้าโค้งตลอดระยะทางที่วิ่งผ่านช่วงโค้งต่อเนื่องนี้

ถ้าจะแก้ที่ลักษณะทางกายภาพของถนนหรือการแก้ไขแนวโค้งนั้น คงทำได้ยากในปัจจุบัน เพราะพื้นที่แนวถนนรัชดาช่วงนี้ เป็นย่านใจกลางเมือง มีสิ่งปลูกสร้างอยู่สองข้างทางเต็มพื้นที่ สิ่งที่จะทำได้ และทางกทม.ก็ได้ทำมาโดยตลอด คือการแก้ไขจุดอันตรายนี้ด้วยมาตรการด้านวิศวกรรม
ครั้งที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่เมื่อปลายปี 63 ซึ่งแทบจะเป็นจุดเดิมกับที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา กทม.ก็ได้มีการตีเส้นประ Optical Speed Bar ในช่องทางวิ่งตลอดแนวโค้ง ติดป้ายไฟเตือนให้ลดความเร็ว และ ติดการ์ดเรลเพื่อลดความรุนแรงของการชน (แต่จุดที่เกิดเหตุนี้กลับไม่มีการ์ดเรล) รวมถึงเคยพยายามเพิ่มความฝืดและเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของผิวถนน ด้วยการปูผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผิวทางพอรัสแอสฟัลต์ แต่ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าว
ยังไม่สามารถขจัดปัญหาอุบัติเหตุรถแหกโค้งรัชดาให้หมดไปได้
ดังนั้น หากใช้มาตรการด้านวิศวกรรมในการแก้ไขปัญหาทางกายภาพอย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังแก้ไม่ได้
คงต้องหันกลับมามองเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น การใช้กล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติและปรับจริงๆ รวมถึงการกำหนดความเร็วจำกัดในเขตเมืองอย่างบนถนนรัชดาฯ เพราะที่ผ่านมา บนถนนที่รับผิดชอบโดยกทม. ยังมีการใช้กล้องตรวจจับความเร็วในเขตเมืองอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะไปอยู่บนทางด่วน มอเตอร์เวย์ และทางหลวงนอกเมืองซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะบังคับใช้กฎหมายด้วยการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว คงทำไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ายังมีปัญหาดังนี้
1. ใช้กล้องตรวจจับความเร็ว ส่งใบสั่งไปที่บ้าน ไม่จ่าย ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ต่อทะเบียนได้ ขับรถได้ตามปกติ ปัญหานี้ต้องแก้อย่างเร่งด่วน ถ้าออกกฎหมายไป จับแล้ว แต่ไม่สามารถปรับหรือลงโทษได้จริง ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ความเร็วได้
2. กล้องตรวจจับความเร็ว หรือเทคโนโลยีที่นำมาใช้ มักจะมีแค่งบประมาณในการติดตั้งตอนแรกเท่านั้น วันหนึ่งถ้ากล้องเสีย ใช้งานไม่ได้ก็จบกัน อย่างที่เราเคยเห็นตัวอย่างกล้องตรวจจับรถฝ่าไฟแดง ที่มีช่วงหนึ่งฮิตจับอยู่พักหนึ่ง พอกล้องเสียก็เลิกจับไป เพราะไม่มีงบประมาณในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้ถึงเวลาแล้วที่ กทม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรร่วมกันมองหาโมเดลใหม่ๆ และแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในเรื่องของการลงทุนและบริหารจัดการเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อความปลอดภัย ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน เช่น การจ้างติดตั้งระบบพร้อมบำรุงรักษาระยะยาวหรือการใช้รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน โดยนำรายได้จากค่าปรับจราจรมาใช้ประโยชน์ในการลงทุนและดูแลบำรุงรักษา

ทั้งนี้ทั้งนั้น การแก้ไขปัญหาในข้อที่สองนี้ก็เกี่ยวพันกับข้อหนึ่ง เพราะถ้าจับแล้วไม่มีคนมาจ่ายค่าปรับ แล้วจะเอาค่าปรับมาจากไหนมาดูแลบำรุงรักษาระบบ ถ้าการบังคับใช้กฎหมายเรื่องความเร็วทำได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนเชื่อว่าจะสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ความเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองอย่างกทม.ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่โค้งรัชดาฯ แต่ถนนเส้นอื่นที่ทำความเร็วได้ในเขตกทม. ก็น่าจะมีความปลอดภัยมากขึ้นเช่นกัน อย่างน้อยเราก็จะไม่เห็นเคสอุบัติที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตเป็นจำนวนมากแบบเคสนี้