สธ.ประเมินรับมือโควิด ระดับ”ดีมาก” ตามแนวทาง WHO เตรียมพร้อมปรับสู่โรคประจำถิ่น

06 มีนาคม 2565, 11:13น.


     กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผลการรับมือโควิด 19 ตามสมรรถนะหลักขององค์การอนามัยโลก พบอยู่ในระดับดีมาก เร่งถอดบทเรียน ทบทวนการปฏิบัติงานเพื่อเตรียมเดินหน้าปรับสู่การเป็นโรคประจำถิ่น


     นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ประธานคณะกรรมการ MIU และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีทิศทางลดความรุนแรงลง จึงมีการวางแผน เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น" อย่างดีสุด โดยเน้นการนำข้อมูลด้านระบาดวิทยาและวิชาการ การระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและนอกกระทรวงสาธารณสุข การติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนทั้งในระดับชาติและพื้นที่ มาใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ




     ล่าสุด ทีมวิจัยกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินผลการรับมือสถานการณ์โควิด 19 โดยลงพื้นที่จริงทั้งในระดับประเทศ และในระดับพื้นที่ จำนวน 8 พื้นที่หลัก และ 44 พื้นที่ย่อย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย การเตรียมความพร้อมและมาตรการสำคัญในการรับมือสถานการณ์ในระยะถัดไปจนเข้าสู่การยุติการระบาด โดยประเมินตามสมรรถนะหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) และถอดบทเรียน ทบทวนหลังปฎิบัติงาน (After Action Review : AAR) พบว่า ประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขมีสมรรถนะและการรับมือสถานการณ์อยู่ในระดับดีมาก ใน 7 องค์ประกอบหลัก เช่น ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ กำลังคน ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ระบบบริการ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ


     หากเทียบเคียงกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2019 เมื่อพ.ศ. 2552 ขณะนี้เป็นการเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่ และปรับตัวไปเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งวิกฤตโรคโควิด 19 ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ ก็ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งการบริหารจัดการและมาตรการในระดับชาติและพื้นที่ พลังความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากประชาชน


ข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข ,ศูนย์ข้อมูล COVID-19
X