จากผลการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคโควิด 19 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ดำเนินการระหว่างวันที่ 14 –26 มกราคม 2565 ผ่านระบบออนไลน์ (Google Form) มีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 1,289 คน อายุเฉลี่ยระหว่าง 22 - 23 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ผลสำรวจ พบว่า ประชาชนยังมีพฤติกรรมเสี่ยงโรคโควิด 19 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 5 อันดับ ดังนี้
1. ประชาชนซื้อของเซ่นไหว้บรรพบุรุษในตลาดแทนการสั่งซื้อแบบออนไลน์ ร้อยละ 61.4
2. ประชาชนนิยมให้อังเปาเป็นเงินสด ร้อยละ 54.4
3. ประชาชนไม่มีการตรวจ ATK ก่อนการพบปะสังสรรค์กับญาติ ร้อยละ 29.5
4. ประชาชนยังคงมีการรวมกลุ่มกินอาหารกับญาติพี่น้อง ร้อยละ 27.6
5. ประชาชนไม่มีการสแกนไทยชนะหรือลงทะเบียนก่อนเข้าออกสถานที่ต่าง ๆ ร้อยละ 24.2
ดังนั้น เพื่อป้องกันการติดโควิด 19 สายพันธุ์ Omicron ที่มีการแพร่กระจายได้รวดเร็ว ในช่วงเทศกาลตรุษจีน หากมีกิจกรรมร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อที่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จะสามารถแพร่กระจายของโรคมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ลูกหลานกลับมากราบไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งผู้ติดเชื้ออาจได้รับเชื้อมาจากสถานที่ระบาดและแพร่กระจายเชื้อสู่คนใกล้ตัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่บ้าน จึงต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการดูแลตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ข้างนอก และตรวจคัดกรองด้วย ATK ทุก 7 วัน หากใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้มีความเสี่ยงติดโควิด 19 อย่างเคร่งครัด