ตำรวจสอบสวนกลาง พร้อม อย. ร่วมระดมตรวจสอบร้านขายยาทั่วประเทศ จับกุมร้านขายยากระทำผิดกฎหมายกว่าร้อยราย

24 มกราคม 2565, 17:28น.


     วันที่ 24 มกราคม 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีจับกุมกวาดล้างร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาตและได้รับอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระดมตรวจค้นร้านขายยาทั่วประเทศ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 127 ราย พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกว่า 359 รายการ

     สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับ การร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียวเหลือง และการขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษโดยมิใช่เภสัชกรในพื้นที่หลายจังหวัด โดยพฤติการณ์ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกรซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจ ในสรรพคุณ ข้อบ่งใช้และข้อพึงระวังในการขายยา ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537



     ในห้วงวันที่ 4-21 มกราคม 2565 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) จึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปูพรม ตรวจสอบร้านขายยาทั่วประเทศ พบว่ามีร้านขายยากระทำความผิดกฎหมายจำนวนมาก และได้ทำการจับกุมร้านขายยาที่กระทำความผิดได้จำนวน 129 ราย และได้จับกุมตัวผู้กระทำความผิดพร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งจากการเข้าจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดพบ เป็นร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 17 ราย, พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร จำนวน 119 ราย (พบเพียงเอกสารใบประกอบวิภาชีพเภสัชกรรมของเภสัชกรแสดงไว้ภายในร้าน) ผลการตรวจพบพนักงานขายยาจบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี ไม่มีความรู้ในวิชาชีพเภสัชกรรมแต่อย่างใด อีกทั้งยังพบของกลาง วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา, ยาปลอม,ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย



เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2564 มาตรา 94 ฐาน “ห้ามผู้ใดจำหน่าย มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 4” มีความผิดตาม ม. 149 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

2. พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

     2.1 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท

     2.2 มาตรา 75 ทวิ ฐาน“ขายยาบรรจุเสร็จหลายขนานโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     2.3 มาตรา 72(4) ฐาน “ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     2.4 มาตรา 32 ฐาน “ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท

3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ฐาน “เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



     พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่าจากการตรวจสอบในครั้งนี้พบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 4 Clorazepate ทะเบียนยา P 1A 054/2542 (ทะเบียนหมดอายุตั้งแต่ปี2005), ยาไม่มีทะเบียน เช่น P50 -ยาเขียวเหลือง, ยาปลอม เช่น ยี่ห้อซิเดกร้า, ยาชุด และการนำยาหมดอายุติดฉลากทับแล้วนำกลับมาขายใหม่ เป็นต้น ซึ่งทางตำรวจสอบสวนกลางจะขยายผลยาในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาไม่มีทะเบียน และยาปลอมที่ตรวจพบในร้านขายยา ต่อไป ทั้งนี้ขอความร่วมมือร้านขายยาทั้งหลายให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และร้านที่ไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินการกวาดล้างต่อไป และฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าว่ายาคือหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ใช้เพื่อรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อย่างถูกวิธีและได้รับคำแนะนำในการใช้อย่างละเอียด จากผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยเฉพาะยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งจะต้องใช้อย่างระมัดระวังตามใบสั่งของแพทย์ เท่านั้น หากพี่น้องประชาชนพบเห็นร้านขายยาใดมีพฤติกรรมในการใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา



     ภก.ดร.สุชาติ จองประเสริฐ ผู้อำนวยการกองยา กล่าวตอนท้ายว่า ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ครบกำหนด การผ่อนผันตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ที่ให้ร้านขายยาทุกประเภทปฏิบัติได้ตามหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน หรือ จี พี พี (Good Pharmacy Practice :GPP) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการยกระดับคุณภาพของร้านขายยาให้มี "ระบบคุณภาพ" ตามแนวทางสากล โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามบันไดขั้นที่หนึ่งในปี พ.ศ.2561 และ ณ สิ้นปี 2565 นี้จะเป็นการประเมินในส่วนที่เหลือทั้งหมดของ GPP ได้แก่ บุคลากรการควบคุมคุณภาพยา และเภสัชกรที่จะเป็นผู้ปฏิบัติตามหลัก GPP ข้างต้นให้เกิดขึ้นในร้านยาได้อย่างสมบูรณ์ GPP นี้จะช่วยให้ผู้มารับบริการเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีเภสัชกรที่คอยควบคุมระบบคุณภาพ รวมถึงมีสภาวะการจัดเก็บยาที่เหมาะสมเพื่อส่งมอบให้ผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย และขอให้ร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และหากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือ อีเมล 1556@fda.moph.go.th


ข้อมูลจาก : FDA Thai
X