4 ชาติลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ร่วมเวทีระดับภูมิภาคผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครั้งที่ 11 หารือข้อมูลเทคนิคโครงการฯเขื่อนสานะคาม

30 พฤศจิกายน 2564, 14:37น.


      4 ประเทศสมาชิก MRC ร่วมเวทีระดับภูมิภาคผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครั้งที่ 11 หารือร่างรายงานการทบทวนข้อมูลเทคนิคของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เสนอแนะในประเด็นสำคัญ อาทิ สิ่งแวดล้อมและการประมง เศรษฐกิจสังคม ความปลอดภัยเขื่อน และการเดินเรือ ฯลฯ มุ่งลดผลกระทบในอนาคตจากการพัฒนาโครงการ



      ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (30 พ.ย. 64)  สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) จัดการประชุมระดับภูมิภาคของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครั้งที่ 11 ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิก MRC ทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา โดย สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMCS) พร้อมทั้ง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ที่ปรึกษาระดับประเทศ เข้าร่วมการประชุมผ่านวิดีทัศน์ทางไกล และร่วมประชุม ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการปรึกษาหารือระดับภูมิภาคเกี่ยวกับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เพื่อแลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถึงสถานะปัจจุบันและผลของการปรึกษาหารือของแต่ละประเทศ รวมถึงการอภิปรายข้อห่วงกังวล และให้คำแนะนำต่อร่างรายงานการทบทวนข้อมูลเทคนิคของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม (Technical Review Report: TRR) โดยมีผู้แทนจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ (MEM) สปป.ลาว ผู้แทนจาก MRCS ผู้แทนจากส่วนงานต่าง ๆ และผู้แทนจากแต่ละประเทศสมาชิก เป็นผู้นำเสนอข้อมูล

      ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและการจัดการน้ำและพลังงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น ภาคเอกชน จากทั้ง 4 ประเทศสมาชิก ไปจนถึงหุ้นส่วนการพัฒนา ประเทศคู่เจรจา และกลุ่มผู้สนใจอื่น ๆ ได้ร่วมติดตามเกี่ยวกับความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินการตาม PNPCA ของ MRC และบทสรุปของการแบ่งปันข้อมูลระดับภูมิภาค ครั้งที่ 1 พร้อมทั้งติดตามรายงานสถานะและความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ปากลาย และหลวงพระบาง นอกจากนี้ ยังได้รับทราบรายงานผลการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและการปรึกษาหารือระดับประเทศของแต่ละประเทศ และความคิดเห็นจากตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค พร้อมกันนี้ ได้ร่วมอภิปรายและมอบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรายงานการทบทวนข้อมูลเทคนิคของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ อุทกวิทยาและการไหลของน้ำ ตะกอนและธรณีสัณฐานวิทยาของแม่น้ำ สิ่งแวดล้อมและการประมง เศรษฐกิจสังคม ความปลอดภัยเขื่อน และการเดินเรือ พร้อมซักถามประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ ด้วย



      “ทาง MRCS จะต้องนำข้อห่วงกังวล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประเทศสมาชิกที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการแจ้งให้ประเทศผู้พัฒนาโครงการหาหนทางป้องกันผลกระทบต่อไป โดย สทนช. จะมีการติดตามการดำเนินงานในทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลและป้องกันชุมชนริมแม่น้ำโขงจากผลกระทบให้ได้มากที่สุด สำหรับการประชุมวันนี้เป็นการประชุมต่อเนื่องจากวานนี้ (29 พ.ย. 64) ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงานและการจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดอย่างรับผิดชอบ รวมถึงยกระดับการประสานงาน การติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือในการดำเนินงานในประเด็นต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการปริมาณการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง ตะกอน การออกแบบ และการจัดการเขื่อนขั้นบันได ฯลฯ เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วบนลุ่มน้ำโขงตอนบนและลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน” ดร.สุรสีห์ กล่าว

X