“บิ๊กป้อม”สั่งเร่งพัฒนาแหล่งน้ำ จ.น่าน ย้ำเดินหน้า 9 มาตรการรับมือแล้ง

29 พฤศจิกายน 2564, 16:28น.


      วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2564 ) เวลา 13.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน ณ ศาลากลางจังหวัดน่าน โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ในพื้นที่ จ.น่าน พร้อมด้วยผู้แทนกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำและโครงการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งที่สำคัญในพื้นที่ ก่อนเดินทางต่อไปยังโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำสระน้ำ บ้านศรีเกิด ต.ไชยสถาน อ.เมือง จ.น่าน 



      พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ จ.น่าน ครั้งนี้เพื่อเร่งรัดติดตามการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำ และแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง โดยมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัดแก้ไขผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ่างเก็บน้ำน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (พรด.) และอ่างเก็บน้ำห้วยจ๊วก (พรด.) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนงานโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมมอบให้ สทนช. นำโครงการแก้ปัญหาน้ำแล้งในระยะยาวบรรจุในแผนแม่บทลุ่มน้ำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาสนับสนุนงบประมาณต่อไป ที่สำคัญในช่วงหน้าแล้งนี้ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตาม 9 มาตรการป้องกันการขาดแคลนน้ำในช่วงแล้งปี 2564/65 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะมาตรการป้องกันขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ซึ่งได้สั่งการให้จังหวัดพิจารณาคัดเลือกโครงการที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว



      ด้าน ดร.สุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าการพัฒนาแหล่งน้ำใน จ.น่าน ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 61 – 64 ) พบว่า มีแผนงาน/โครงการด้านน้ำเกิดขึ้นรวม 2,565 แห่ง ปริมาณน้ำเก็บกัก 4.64 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่รับประโยชน์ 34,023 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 24,685 ครัวเรือน อาทิ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขณะที่แผนงานบูรณาการทรัพยากรน้ำในปีงบประมาณ 2565 มีทั้งสิ้น 1,285 แห่ง ปริมาณน้ำเก็บกัก 1.53 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 6,795 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 3,501 ครัวเรือน ขณะที่โครงการสำคัญในช่วงปี 66 - 67 รวม 8 โครงการ อาทิ อ่างเก็บน้ำน้ำกิ พร้อมระบบส่งน้ำ อ่างเก็บน้ำน้ำกอน และอ่างเก็บน้ำน้ำรี (พรด.) เป็นต้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 191 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 146,133 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 19,324 ครัวเรือน





X