พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ มีการนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นการเหยียดคนต่างภูมิภาค พุ่งติดเทรนอันดับ 1 บนทวิตเตอร์ นั้น กรณีดังกล่าวอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง หรืออาจสุ่มเสี่ยงกับการกระทำความผิด เช่น ในกรณีความผิดฐานหมิ่นปะมาทโดยการโฆษณา หรือความผิดอื่นๆ ขึ้นกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏและรายละเอียดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยหากมีการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนทั่วไปสามารถเห็นหรือเข้าถึงข้อความดังกล่าวได้อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว หากต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
สำหรับแนวทางการป้องกัน การระรานทางไซเบอร์(Cyberbullying)
1. อย่าตอบโต้หรือพูดอะไรไปในทำนองเดียวกัน เพราะการตอบกลับในรูปแบบเดียวกัน หรือคุกคามอีกฝ่าย มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
2. หากพบเจอ การระรานทางไซเบอร์(Cyberbullying) ในลักษณะที่คุกคามและไม่สบายใจ แนะนำให้แคปภาพหน้าจอ และทำบันทึกข้อมูลเอาไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความหรือดำเนินคดีได้
3. สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่จะมีฟังก์ชั่นให้บล็อกบัญชีผู้ใช้นั้นๆ และสามารถกดรีพอร์ทผู้ใช้ที่เป็นการระรานทางไซเบอร์(Cyberbullying) ได้
4. ผู้ปกครองควรสอดส่องพฤติกรรม ให้คำแนะนำในการใช้สื่อออนไลน์แก่บุตรหลาน และควรสร้างความสัมพันธ์อันดี เพื่อให้บุตรหลานไว้วางใจ เมื่อมีปัญหาจะได้กล้าขอคําปรึกษาได้
หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง