นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดย สำนักก่อสร้างทางที่ 2 ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่ สาย กาฬสินธุ์ – บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ้านนาไคร้) - อ.คำชะอี ระยะทางประมาณ 115.6 กิโลเมตร แล้วเสร็จ ตามนโยบายโครงการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) กับประเทศเพื่อนบ้าน ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่ สาย กาฬสินธุ์ – บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ้านนาไคร้) - อ.คำชะอี เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ขนส่งตามแนวตะวันออกและตะวันตกกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแนวเส้นทางเดิมบางช่วงเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับข้อจำกัดของสภาพพื้นที่และชุมชนในการขยายทางหลวง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง กรมทางหลวงเล็งเห็นความสำคัญนี้ จึงดำเนินการศึกษาและออกแบบทางหลวงสายใหม่ระยะทางทั้งหมดประมาณ 115.6 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเดินทางในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมุกดาหาร ให้มีแนวทางที่เหมาะสมและเป็นการลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยแบ่งโครงการก่อสร้างเป็น 5 ตอน ดังนี้
1.สายกาฬสินธุ์ - บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ.นาไคร้) ตอน 1 ตอน ลำน้ำพาน - บ.หลุบ ระยะทางประมาณ 7.867 กิโลเมตร
2.สายกาฬสินธุ์ - บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ.นาไคร้) ตอน 2 ส่วนที่ 1 ระยะทางประมาณ 35.722 กิโลเมตร
3.สายกาฬสินธุ์ - บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ.นาไคร้) ตอน 2 ส่วนที่ 2 ระยะทางประมาณ 35.714 กิโลเมตร
4.สาย บ.นาไคร้ -อ.หนองสูง ระยะทางประมาณ 16.6 กิโลเมตร
5.สาย อ.หนองสูง-อ.คำชะอี ระยะทางประมาณ 19.708 กิโลเมตร
ลักษณะโครงการ เป็นทางหลวงแนวใหม่ เขตทางกว้าง 60 เมตร (ส่วนใหญ่) ก่อสร้างตามมาตรฐานชั้นทางพิเศษผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต (AC) ขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับ กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบกดร่อง (Depressed Median) กว้าง 12.1 เมตร พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย และงานไฟฟ้าแสงสว่าง งบประมาณโครงการทั้งสิ้น 5,881 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งบนเครือข่ายทางหลวง ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เช่น การเกษตร การบริการ การขนส่ง รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นการ บูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สหภาพเมียนมาร์-ไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมทางหลวง