สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) พร้อมด้วยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงและกลุ่มภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ จัดแถลงข่าวคัดค้านแนวคิด นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Des) หลังพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ภาคีเครือข่ายองค์กรที่ทำงานเด็กและเยาวชนชี้การกระทำดังกล่าวกำลังทำลายสุขภาพของอนาคตของชาติ เสี่ยงทำเด็กและเยาวชนติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพราะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาการจับกุมผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ยังน้อยมาก และไม่เห็นบทบาทของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย”
“พรรคพลังประชารัฐ นับเป็นพรรคการเมืองที่สำคัญของประเทศไทย แต่วันนี้กลับมีรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ออกมาสนับสนุน “สิ่งเสพติดผิดกฎหมาย” ให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) มีความเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามต่อการควบคุมยาสูบ และจะทำให้การลดอัตราการสูบบุหรี่ในเด็ก เยาวชน และประชาชนยากมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หากดูข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2564 ยังพบด้วยว่าปัจจุบันมีถึง 32 ประเทศทั่วโลกที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และอีกกว่า 79 ประเทศ มีกฎหมายในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าจึงอยากร้องขอความเห็นใจไปยังพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้ช่วยยืนหยัดและมีมาตรการขั้นเด็ดขาดไปยังบุคลากรในสังกัดของท่านให้ร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เสพติดบุหรี่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเป้าหมายตามนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการเห็นคนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงใช่หรือไม่”
ด้านนายโยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย (สดย.ท) กล่าวด้วยว่า “สภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ทั่วประเทศ พยายามขับเคลื่อนเพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องพิษภัยและอันตรายจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด โดยการจัดกิจกรรมให้ความรู้และตระหนักถึงปัญาในเรื่องดังกล่าวในสถานการณ์ปกตินับว่ามีความยากลำบากอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในประเทศไทย จะยิ่งเพิ่มความยากลำบากและเป็นปัญหาหาระดับชาติในการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้สูบบุหรี่เข้าไปอีก เพราะเด็กและเยาวชนจะมีช่องทางในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบและเสพติดมากขึ้นอีกด้วย”
ขณะที่นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า “บุหรี่แบบมวนที่ประชาชนทั่วโลกสูบกันมานาน ยังใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งการเกิดขึ้นไม่นานของบุหรี่ไฟฟ้า จึงยังไม่มีรายงานใด ๆ ที่ชี้ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป ขณะที่ปัจจุบันข้อมูลพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารโลหะหนักและสารก่อมะเร็ง ในภาพรวมแม้จะมีจำนวนน้อยกว่า แต่มีสารพิษหลายตัวที่มีระดับที่สูงกว่าในบุหรี่ธรรมดา และมีสารเคมีใหม่หลายตัวที่ไม่มีในบุหรี่ธรรมดา นอกจากนี้ปัญหาใหญ่ที่สุดของบุหรี่ไฟฟ้า คือ จะทำให้เด็กและเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ เข้ามาสูบและเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า และเด็กและเยาวชนที่เริ่มต้นด้วยการสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดา มากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2 - 4 เท่า รวมทั้งคนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาไปแล้วกลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย”