รมว.ยุติธรรม แจง 'พืชกระท่อม' ปลูก ใช้ ครอบครอง ขายใบสด ต้มกินเอง และแจกจ่ายทำได้เสรี แต่หากนำมา 'ทำยา อาหาร และเครื่องสำอางเพื่อขาย' ยังผิดกฎหมาย

09 กันยายน 2564, 12:19น.


     นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ระบุว่า หลังสภาเห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่ยังมีหลายคนสงสัยเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อม จึงขอชี้แจงว่า ในส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครอง และการขายใบสดที่ไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหาร ทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่ส่วนการนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่แจ้งว่า มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของ สธ. เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่



     นอกจากนี้ การนำไปทำเป็นอาหาร หรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหาร หรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่าย การฝ่าฝืนผลิตและขายอาหาร ที่ พ.ร.บ. อาหารห้ามมีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน - 2 ปี ปรับ 5,000 - 20,000 บาท

     ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาอาหาร และเครื่องสำอาง ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้อย่างเต็มที่ สธ.จึงสมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการ สามารถใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ แต่สำหรับในช่วงนี้ที่ประกาศยังไม่ถูกแก้ไข หากผู้ประกอบการอยากจะพัฒนาต่อยอด เพื่อสกัดหรือแปรรูปพืชกระท่อมโดยใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในใบกระท่อม เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือยาแผนโบราณ สามารถขอคำแนะนำ หรือติดต่อได้ที่ กองควบคุมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
X