1. กรณีต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
- กรณีเด็กและผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ : ให้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลร่วมกันกับผู้ปกครอง โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว ไม่ควรแยกเด็กเล็กออกจากผู้ปกครอง
- กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ : ให้เด็กเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยมีผู้ดูแลที่ไม่มีโรคประจำตัว และอายุไม่เกิน 60 ปีเข้าดูแลเด็กด้วย หากเป็นโรงพยาบาลสนาม ควรขอจัดพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ โดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้
2. กรณีเฝ้าสังเกตอาการที่บ้าน (Home Isolation)
- อุปกรณ์เพื่อใช้ติดตามอาการ และบรรเทาอาการเด็กที่บ้าน ได้แก่ ปรอทวัดไข้ ที่วัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์ที่สามารถถ่ายภาพ หรือ คลิปวิดีโออาการของเด็กได้ ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เกลือแร่
- สังเกตอาการโดยรวมของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยระดับอาการของเด็กแบ่งเป็น 2 แบบ
อาการในระดับที่สามารถเฝ้าสังเกตอาการที่บ้านต่อไปได้ คือ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก มีอาการไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหาร หรือนมได้ปกติ ไม่ซึม
อาการในระดับที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาล คือ ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจมาก อกบุ๋ม ปีกจมูกบานตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร
สำหรับช่องทางติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาล ติดต่อที่เบอร์สายด่วน โทร. 1668 / 1669 หรือ 1330 หรือติดต่อสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทาง Line ด้วยการเพิ่มเพื่อน COVID QSNICH ที่ Line id : @080hcijL และลงทะเบียนข้อมูลให้ครบถ้วน หลังจากนั้นให้รอเจ้าหน้าที่ของสถาบันติดต่อกลับภายใน 24 ชม. หรือโทรสอบถามที่เบอร์ 1415
ข้อมูลจาก : สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย