การแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยติดเชื้อหลายคนไม่สามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอย (Community Isolation) เพื่อรับผู้ป่วยติดเชื้อให้มาพักรักษาตัวแยกออกมาจากบ้าน ระหว่างรอส่งต่อรักษาในโรงพยาบาล โดยจะจัดตั้งอย่างน้อย 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย ให้ครบทั้ง 50 สำนักงานเขต ล่าสุด กทม. เปิดศูนย์พักคอยแล้ว 40 แห่ง จะทยอยเปิดให้ได้ 60 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมจัดตั้งศูนย์พักคอยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่ว กทม. รองรับผู้ป่วยโควิดได้ 7,499 ราย แบ่งเป็น
- กทม.ใต้ 10 เขต 11 ศูนย์ 1,390 เตียง
- กทม.กลาง 9 เขต 11 ศูนย์ 1,247 เตียง
- กทม.ตะวันออก 9 เขต 9 ศูนย์ 1,301 เตียง
- กทม.เหนือ 7 เขต 9 ศูนย์ 1,500 เตียง
- กรุงธนเหนือ 8 เขต 9 ศูนย์ 836 เตียง
- กรุงธนใต้ 7 เขต 11 ศูนย์ 1,325 เตียง
ศูนย์พักคอย นี้จะรองรับผู้ป่วย ทั้งจาก การตรวจหาเชื้อในระบบเฝ้าระวัง และ จากการตรวจเชิงรุกของทีม CCRT ที่ไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ โดยผู้ที่ตรวจด้วยชุดตรวจเร็ว ATK จะมีหน่วยตรวจซ้ำด้วย RT-PCR อีกครั้งที่ศูนย์พักคอย
ตอนนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการระดับเหลืองและแดงเพิ่มมากขึ้นทุกวันที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ถึงแม้ว่า กทม. จะขยายศักยภาพโรงพยาบาลอย่างเต็มกำลังแล้วก็ตาม ทั้งขยายศักยภาพเตียงผู้ป่วยเหลือง-แดงในโรงพยาบาลหลัก เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลสนามให้สามารถรองรับผู้ป่วยระดับเหลืองได้มากขึ้น และสร้างไอซียูสนาม (Modular ICU) รองรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่ม แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกวันได้อย่างรวดเร็ว กทม. จึงปรับศูนย์พักคอย 7 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลสนาม ให้สามารถรองรับผู้ป่วยเหลืองได้เพิ่มขึ้นอีก 1,036 เตียงด้วย
ข้อมูลจาก : เพจผู้ว่าฯ อัศวิน