!-- AdAsia Headcode -->

อันตรายจาก “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” ที่ไร้สัญญาณเตือน

15 มิถุนายน 2564, 15:27น.


            จากเหตุการณ์นักฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์ก หมดสติล้มลงในสนามขณะกำลังแข่งขันกับทีมชาติฟินแลนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ภายหลังทราบว่าเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทำเอาหลายคนแทบไม่อยากเชื่อเนื่องจากผู้ป่วยดูเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ทว่าโรคนี้คืออะไร สาเหตุที่ทำให้เกิด และจะป้องกันได้อย่างไร ด้วยความห่วงใยจากนพ.สุวัฒน์ คงดำรงเกียรติ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหัวหน้าศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 จึงจะเป็นผู้ออกมาอธิบาย สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

            “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” คืออะไร


             ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นทันที โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า เมื่อเกิดภาวะนี้จะไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การทำงานของอวัยวะผิดปกติ ซึ่งอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำงานของสมอง เมื่อไม่มีเลือดมาเลี้ยงก็ทำให้หมดสติ การช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องทำอย่างทันท่วงที

            สาเหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

            ส่วนใหญ่แล้วการเกิดภาวะนี้ก็เนื่องมาจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติ ที่เรียกว่า Ventricular Fibrillation ซึ่งในภาวะปกติ หัวใจจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวเป็นจังหวะ เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่เมื่อหัวใจเต้นผิดปกติชนิด Ventricular Fibrillation กระแสไฟฟ้าที่ส่งออกจากหัวใจจะเร็วและไม่เป็นจังหวะ จนทำให้หัวใจไม่บีบตัวและเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงร่างกายได้ ผู้ป่วยจะหมดสติภายในไม่กี่วินาทีและเสียชีวิตได้ทันที

            แต่เราอาจให้ความช่วยเหลือได้โดยการช็อคด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Shock) จากเครื่องมือที่เรียกว่า Defibrillator ซึ่งเมื่อก่อนเครื่องมือชนิดนี้มีใช้แต่เฉพาะในโรงพยาบาลหรือรถพยาบาลเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเราอาจจะพบเครื่องมือชนิดนี้ที่สามารถใช้งานได้โดยทั่วไปที่เรียกว่า AEDs (Automatic External Defibrillators) ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สนามบิน, โรงเรียน, สนามกีฬา หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า

            การประเมินความเสี่ยงด้วยการทดสอบ

            - การตรวจเลือด เช่น ระดับน้ำตาล, ไขมัน

            - คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)

            - คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการตรวจที่สามารถวัด Ejection Fraction

            - การติดตามการเต้นหัวใจ (Holter Monitoring) โดยใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กประมาณโทรศัพท์มือถือติดที่บริเวณหน้าอก ซึ่งจะบันทึกการเต้นของหัวใจได้ตลอดเวลานานถึง 24-48 ชม

            ป้องกันไว้ก่อนได้ ด้วยไลฟ์สไตล์ “Heart Healthy Life”

            พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีจะสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เริ่มตั้งแต่การกินอาหารสุขภาพ เช่น ผัก, ผลไม้, พืชเมล็ดถั่ว, ปลา การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็วประมาณ 30 นาทีให้ได้เกือบทุกๆ วัน ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่สูบบุหรี่ และดูแลรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง

            การรักษาผู้ป่วยที่สงสัยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ได้แก่ การให้ออกซิเจน แอสไพริน และไนโตรกลีเซอรีนชนิดอมใต้ลิ้น
จากนั้นจะต้องพิจารณาถึงการรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือด หรือการขยายหลอดเลือดโคโรนารีทางผิวหนัง (Percutaneous coronary intervention; PCI) เพื่อเปิดหลอดเลือดหัวใจให้ได้เร็วที่สุด ในกรณีที่สงสัยควรเรียกรถพยาบาลเพื่อนำส่งห้องฉุกเฉินโดยเร็ว



 



ข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท 3 







 



 

X