เรามักจะคุ้นชินกับการที่สุนัขเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการดมกลิ่น จนถูกนำมาฝึกใช้งานดมกลิ่นในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะ ดมกลิ่นระเบิด ยาเสพติด เพื่อติดตามร่องรอยของคนร้าย ซึ่งคุณสมบัติพิเศษนี้ทำให้เกิดการศึกษาเพื่อวินิจฉัยผู้ติดเชื้อ COVID – 19 แบบไม่แสดงอาการด้วยการดมกลิ่นของสุนัข ทว่าใช้สุนัขดมกลิ่นนี้มีขั้นตอนอย่างไร สุนัขจะติดเชื้อหรือไม่ ให้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้ออกมาอธิบายสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
การบ่งชี้ผู้ป่วย COVID – 19 ด้วยกลิ่นเหงื่อ
สำหรับการดมกลิ่นของสุนัขกับผู้ป่วย COVID – 19 แบบไม่แสดงอาการ จะให้ดมกลิ่นเหงื่อที่ออกมาจากต่อมเหงื่อภายในร่างกายของผู้ติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ COVID – 19 ที่ทั้ง 2 กลุ่มคนจะมีความแตกต่างกันนั่นเอง เนื่องจากร่างกายของผู้ติดเชื้อจะเกิดปฏิกิริยาต่อการเพิ่มไวรัสขึ้น ทำให้สุนัขสามารถบ่งชี้กลิ่นที่แตกต่างกันได้ในที่สุด
ขั้นตอนการตรวจ COVID – 19 ด้วยสุนัขดมกลิ่น
1. การดมกลิ่นจากเหงื่อที่ใต้วงแขนของผู้ติดเชื้อ
2. ตัวอย่างเหงื่อจะถูกเก็บด้วยวิธีการใช้แผนแปะที่ใต้วงแขนประมาณ 20 นาที เพื่อให้ได้เหงื่อ 75 มิลลิกรัม
3. การเก็บตัวอย่างเหงื่อจะปฏิบัติโดยแพทย์หรือพยาบาลโดยไม่มีการปะปนของกลิ่นจากผู้เก็บตัวอย่าง
4. ผู้เก็บตัวอย่างต้องผ่านการฝึกฝน และสวมชุดป้องกันตามมาตรฐาน
5. สุนัขจะดมกลิ่นจากตัวอย่างเหงื่อ เพื่อบ่งชี้การติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ COVID – 19
ตัวอย่างการตรวจ COVID – 19 ด้วยสุนัขดมกลิ่น
การใช้สุนัขดมกลิ่น 6 ตัว ดมกลื่นผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ที่มีอาการ จำนวน 95 คน และผู้ที่ไม่ติดเชื้อโควิด – 19 จำนวน 82 คน สุนัขสามารถแยกแยะกลิ่นได้ด้วยอัตราความถูกต้อง 76 – 100% ต่อสุนัขแต่ละตัว ซึ่งพบว่ามีความแม่นยำโดยรวมถึง 85 – 100% และสามารถบ่งชี้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อโควิด – 19 ได้ถูกต้อง 92 – 99%
อย่างไรก็ดี การนำสุนัขมาฝึกเพื่อดมกลิ่นได้ผ่านการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ โดยได้รับรองว่าสุนัขจะไม่ติดเชื้อ COVID – 19 และไม่มีผลทางด้านลบต่อสวัสดิภาพของสุนัข ซึ่งหากจะขยายผลในพื้นที่ใหญ่ขึ้นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย