“ฮีทสโตรก” โรคที่มากับสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

18 มีนาคม 2564, 15:37น.


            สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นโดยเฉพาะช่วงกลางวันยิ่งร้อนจัดจนแทบทนไม่ไหว ซึ่งสภาพอาการที่ร้อนจัดไม่ใช่แค่ทำให้เหงื่อไหลไคลย้อยและรู้สึกหงุดหงิดง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปสู่อาการป่วยตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในโรคที่ควรระวังมากที่สุดก็คือ “โรคฮีทสโตรก” และด้วยความห่วงใยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจะเป็นผู้อธิบายสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวโรคฮีทสโตรก พร้อมแนะวิธีป้องกันและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นลดความเสี่ยงที่อาจรุนแรง

            รู้เท่าทัน “
ฮีทสโตรก

            โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไปจนไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนได้ ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว

            อาการสำคัญของโรคฮีทสโตรก คือ แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน เกร็งกล้ามเนื้อ รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลาอาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้

            แล้วเราจะป้องกัน “ฮีทสโตรก
อย่างไร?

            สำหรับวิธีป้องกันโรคฮีทสโตรกนั้นให้เริ่มจากการเลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม ไม่หนาจนเกินไป รวมทั้งอยู่ในที่ๆ อากาศถ่ายเท ดื่มน้ำให้เพียงพอแนะนำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะอากาศร้อน แต่หากมีอาการข้างต้นให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการหลบเข้ามาพักในที่ร่มและดื่มน้ำ

            
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าทุกๆ คนจะเกิดความเข้าใจและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะนำพาไปสู่การเกิดโรคฮีทสโตรกนี้ และหากพบผู้ป่วยอย่าลืมตั้งสติ และรีบปฐมพยาบาลตามคำแนะนำ ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นรีบพบแพทย์ทันที



 



ข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)



 





 

X