กาชาดอเมริกัน(American Red Cross) เปิดเผยว่า จากเลือดที่รับบริจาคมาจากผู้บริจาคเลือดกว่า 3,300,000 คนใน 44 รัฐทั่วสหรัฐฯที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนระหว่างกลางเดือนมิถุนายนปีที่แล้วจนถึงต้นเดือนมีนาคมปีนี้ กาชาดอเมริกันพบว่าผู้บริจาคเลือดกว่าร้อยละ 20 มีสารภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 และพบว่า ร้อยละ 7.5 ของผู้บริจาคเลือด เป็นกลุ่มที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่หายป่วย แสดงให้เห็นว่าผู้บริจาคเลือดมีสารภูมิคุ้มกันในร่ายกาย
นอกจากนี้ กาชาดอเมริกันพบว่าสารภูมิคุ้มกันในร่างกายของกลุ่มผู้บริจาคเลือดที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นช่วงๆโดยเฉพาะช่วงที่โรคโควิด-19 ยังคงระบาดรุนแรงในสหรัฐฯ เช่น จากเลือดที่มีผู้บริจาคในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมปีก่อน กาชาดพบว่าร้อยละ 1.5 ของผู้บริจาคเลือดมีสารภูมิคุ้มกันในร่างกาย ต่อมาตัวเลขนั้นเพิ่มเป็นร้อยละ 4 ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก่อนเพิ่มเป็นร้อยละ 12 ในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมปีนี้ และสูงเกือบร้อยละ 21 ในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมปีนี้
ด้านนพ.วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ที่ปรึกษาด้านวัคซีนของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ระบุว่า มีประเด็นที่น่าสนใจ 2 อย่างจากผลการศึกษาเรื่องนี้ ข้อแรกคือ มีประชากรของสหรัฐฯติดโรคโควิด-19 ในอัตราที่สูงมาก อย่างน้อยดูจากกลุ่มผู้บริจาคเลือด ไม่ว่าผู้บริจาคเลือดจะรู้ตัวหรือไม่รู้ว่าตนเองติดโรคโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม ข้อสองคือ ประชากรส่วนใหญ่ของสหรัฐฯคือ ร้อยละ 80 ไม่ติดโรคโควิด-19
นพ.ชาฟฟ์เนอร์ เห็นว่า สหรัฐฯควรเร่งผลักดันโครงการฉีดวัคซีนให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว เพื่อเกิดสิ่งที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) หรือการทำให้ร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมดของสหรัฐฯมีภูมิคุ้มกันโรค ไม่ว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือโดยการฉีดวัคซีน ซึ่งจะลดการแพร่ระบาดทั่วสหรัฐฯ ตั้งแต่เริ่มกระจายวัคซีนในสหรัฐฯครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมปีก่อน ประชาชนกว่า 107 ล้านคนฉีดวัคซีนแล้ว หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของประชากรทั้งหมด
Cr: CNN, Science News