18 มี.ค. EMA ประชุมด่วนหาข้อสรุปวัคซีนแอสตราฯ
วันนี้ องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) จะพิจารณาทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับรายงานที่ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกาทำให้คนที่ได้รับวัคซีนบางคนเกิดเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จากนั้นในวันพฤหัสฯ 18 มี.ค.64 EMA จะประชุมวาระพิเศษ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้
ขณะที่ บริษัทแอสตราเซเนกา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการใช้วัคซีนจริงกับชาวยุโรปกว่า 17,000,000 คน ยันไม่พบหลักฐาน ชี้ว่า วัคซีนป้องโควิด-19 ที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพิ่มความเสี่ยงทำให้ผู้รับการฉีดเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตัน
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไม่มีหลักฐานว่าภาวะลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นกับคนไข้ เป็นผลมาจากการรับวัคซีนตัวนี้
ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่าจนถึงตอนนี้มีผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาในยุโรปและสหราชอาณาจักร ราว 17,000,000 คน พบผู้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันไม่ถึง 40 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ไม่มากไปกว่าที่พบในคนทั่วไป
เยอรมนี-ฝรั่งเศส-อิตาลี ระงับฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา
ชาติยุโรปที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับที่ 1-3 ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ประกาศระงับการใช้งานวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา จากความกังวลว่าวัคซีนรุ่นนี้อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นการป้องกันไว้ก่อน
นายเยนส์ ชปาห์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนี ประกาศว่า คำสั่งดังกล่าวมีผลทันที หลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากจากสถาบัน พอล เออร์ลิช (PEI) ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุมัติการใช้งานวัคซีนในเยอรมนี
จากนั้น ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ประกาศว่า ฝรั่งเศสจะระงับการใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกา จนกว่าจะมีคำแนะนำใหม่จาก EMA
ขณะที่ อิตาลีขยายคำสั่งแบนวัคซีนแอสตราเซเนกาจากก่อนหน้านี้ที่ห้ามใช้บางล็อตเป็นห้ามใช้ทั้งหมดแล้ว และกำลังรอคำแนะนำใหม่จาก EMA เช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ก่อน ประเทศยุโรปอื่นๆ อย่าง ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ บัลแกเรีย และไอซ์แลนด์ ก็ประกาศระงับการใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาไปแล้วเช่นกัน
ขณะที่เมื่อวันอาทิตย์ 14 มี.ค. 64 เนเธอร์แลนด์เพิ่งประกาศระงับการฉีด
นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่ประกาศชะลอการใช้วัคซีนชนิดนี้ด้วย เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และอินโดนีเซีย ขณะที่ออสเตรียยังระงับใช้เพียงบางล็อต
สหรัฐฯ เร่งศึกษาผลการเว้นระยะห่างจาก 2 เมตร เหลือ 1 เมตร
นพ.แอนโทนี เฟาซี ที่ปรึกษาใหญ่ทางการแพทย์ของคณะบริหารของนายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบรายงานการศึกษาของศูนย์การแพทย์เบธ ดีโคเนสส์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่พบว่า การเว้นระยะห่าง 2 เมตร กับ 1 เมตร ไม่มีความแตกต่างกัน รายงานดังกล่าวมาจากการสำรวจเขตการศึกษา 251 เขต ในสหรัฐฯ ซึ่งไม่พบความแตกต่างมากนักในเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มนักเรียนหรือเจ้าหน้าที่ ระหว่างกลุ่มที่ปฏิบัติตามกฎการเว้นระยะห่าง 1 เมตร และกลุ่มที่ต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตร โดยที่ทั้งหมดต่างสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน
นพ.เฟาซี เป็นผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ เปิดเผยว่า CDC ตระหนักว่า มีข้อมูลจำนวนมากขึ้นที่ชี้ว่า การเว้นระยะห่างเพียง 1 เมตร มีแนวโน้มมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโควิด-19 ในบางสถานการณ์ CDC กำลังทดสอบเรื่องนี้อยู่ คาดว่า จะรู้ผลเร็วๆ นี้ และจะพิจารณาปรับเปลี่ยนระยะห่างที่แนะนำต่อไป ทั้งนี้ ขณะนี้ทั่วโลกกำหนดใช้ระยะห่างอยู่ที่ 2 เมตร
การเว้นระยะห่างเพียง 1 เมตร มีผลอย่างมากไม่เฉพาะสำหรับโอกาสในการเปิดโรงเรียนอย่างเต็มรูปแบบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการอนุญาตเปิดธุรกิจต่างๆ ตลอดจนสถานที่สาธารณะ เช่น สนามกีฬา
‘หมอเฟาซี’ หวังให้ ‘ทรัมป์’ โน้มน้าวให้ผู้สนับสนุนฉีดวัคซีน
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลก สถานการณ์เริ่มลดลงเนื่องจาก มีการกระจายโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชน นพ.เฟาซี แสดงความหวังว่า อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะช่วยผลักดันให้ผู้สนับสนุนยอมฉีดวัคซีนมากขึ้น และย้ำว่า ยังไม่ควรยกเลิกมาตรการจำกัดการระบาดเป็นการถาวร ผลสำรวจของหลายสำนักที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า ผู้ชายประมาณร้อยละ 50 ที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ไม่มีแผนฉีดวัคซีนโควิด-19
ตร.อเมริกัน ออกหมายจับป้าวัย 65 ปี ไม่สวมหน้ากาก เข้าไปถอนเงินในแบงก์
ตำรวจออกหมายจับนางเทอร์รี ไรท์ วัย 65 ปี จากเมืองแกรนท์ พาส รัฐออริกอน สหรัฐฯ จากเหตุการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มี.ค. 64 ในธนาคารแบงก์ออฟอเมริกา ภาพจากกล้องติดตามตัวของตำรวจจับภาพเหตุการณ์เอาไว้ได้ ตำรวจ ได้แจ้งข้อหาขัดขวางการจับกุมและบุกรุก
ตำรวจได้รับแจ้งจากผู้จัดการธนาคารว่า นางไรท์ปฏิเสธที่จะสวมหน้ากากอนามัยขณะเข้ามาใช้บริการทำธุรกรรมทางการเงินภายในธนาคาร และยังไม่ยอมออกจากธนาคารเมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่
ส่วนนางไรท์ เปิดเผยว่า เข้ามาที่ธนาคารเพื่อถอนเงินสด แต่เจ้าหน้าที่ขอให้เธอออกไปข้างนอกหรือไม่ก็สวมหน้ากากอนามัยก่อน แต่เธอปฏิเสธและยังกล้าท้าทายตำรวจว่ากล้ามาจับฉันเหรอ เธออ้างกับเจ้าหน้าที่ว่าตามกฎหมายแล้ว เธอไม่จำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัย เจ้าหน้าที่พยายามที่จะจับเธอใส่กุญแจมือ แต่เธอก็เดินหนีและเดินออกไปทางประตู เจ้าหน้าที่สั่งให้เธอหยุด และบังคับให้เธอล้มตัวลงนอนกับพื้น แล้วจับใส่กุญแจมือ เธอบอกอีกว่า เท้าได้รับบาดเจ็บ และยังตะโกนบอกกับผู้มาใช้บริการคนอื่นๆว่าตำรวจทำร้ายประชาชน ตำรวจบอกอีกว่าเธอได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยระหว่างการจับกุม และนำส่งโรงพยาบาลแล้ว นางไรท์ บอกกับวอชิงตันโพสต์ด้วยว่า เธอไม่เคยใส่หน้ากากอนามัยปิดใบหน้าแม้อยู่ในห้างสรรพสินค้า แม้แต่ตอนคำสั่งรัฐยังมีผลบังคับใช้ก็ตาม
นายเกร็ก แอบบอต ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส กล่าวว่า คำสั่งของรัฐเท็กซัสให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะหมดอายุไปแล้ว จึงให้ภาคธุรกิจห้างร้านต่างๆ พิจารณากันเอาเองเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งปรากฏว่ายังมีธุรกิจหลายอย่างที่ยังคงขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่
22 มี.ค. จังหวัดคย็องกี เกาหลีใต้ ต้องตรวจหาเชื้อในแรงงานต่างชาติให้เสร็จ
จังหวัดคย็องกี ของเกาหลีใต้ เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ พบชาวต่างชาติอย่างน้อย 275 คน มีผลตรวจเป็นบวก เกรงว่าจะมีการระบาดภายในโรงงาน จึงออกคำสั่งเพิ่มเติม ให้ตรวจหาโควิด-19 กับแรงงานต่างชาติให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 มี.ค.64 นี้ ทำให้ครอบคลุมไปถึงแรงงานต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 85,000 คน และยังมีแรงงานต่างชาติที่ไม่มีเอกสารตามกฎหมายอย่างถูกต้องอีกจำนวนหนึ่งด้วย หากใครไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อาจต้องถูกลงโทษปรับเป็นเงิน 3,000,000 วอน หรือ 2,640 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 79,200 บาท
ล่าสุด จังหวัดคย็องกี ตรวจชาวต่างชาติไปแล้ว 120,310 คน พบว่าติดเชื้อ 120 คน และชาวต่างชาติก็ยินดีที่จะเข้ารับการตรวจ แม้มีกระแสข่าวว่า เรื่องนี้อาจทำให้คนเกาหลีรู้สึกหวาดกลัวคนต่างชาติที่ติดเชื้อโควิด-19
เมียนมา ขยายพื้นที่ใช้กฎอัยการศึก หลังโรงงานจีนถูกเผา
รัฐบาลทหารเมียนมา ขยายพื้นที่ใช้กฎอัยการศึก ในอีกหลายอำเภอของเมืองย่างกุ้ง รวมทั้งในหลายพื้นที่ของเมืองมัณฑะเลย์ด้วย การใช้กฎอัยการศึก หมายความว่า ผู้ที่ถูกจับกุมในพื้นที่เหล่านั้นจะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร โดยมีโทษตั้งแต่ใช้แรงงานสถานหนัก 3 ปี จนถึงประหารชีวิต หลังจากที่เกิดเหตุ โรงงานของจีน 32 แห่ง ถูกเผาและทำลาย และทำให้เกิดความเสียหาย คิดเป็นมูลค่าถึง 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งยังมีคนงานจีน 2 คน ได้รับบาดเจ็บ
เหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ 14 มี.ค. 64 รุนแรงที่สุด เกิดขึ้นในเขตหล่ายตายา ของเมืองย่างกุ้ง มีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 37 ราย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารยังสั่งให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาคดีของนางออง ซาน ซูจี จากเดิมกำหนดไว้เมื่อวานนี้ 15 มี.ค.64 เลื่อนไปเป็นวันพุธหน้า 24 มี.ค. 64 นางซูจี ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 4 ข้อหา มีทั้งข้อหาลักลอบนำเข้าวิทยุสื่อสาร ละเมิดมาตรการป้องกันโควิด-19 ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นางซูจี ถูกกล่าวหาว่า แอบรับเงิน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และทองคำจำนวนมาก ระหว่างที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของเธอบริหารประเทศในสมัยที่แล้ว