กระทรวงสาธารณสุขแถลงชี้แจงหลังประกาศชะลอการฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี หลังจากหลายชาติในยุโรปเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน เพราะมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับวัคซีนเพื่อตรวจสอบรายงานดังกล่าวว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาหรือไม่
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงานการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย มีเป้าหมายคือวัคซีนที่จะให้กับประชาชนจะต้องปลอดภัย ดังนั้นเมื่อมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน ก็ไม่จำเป็นต้องรีบฉีดวัคซีน แม้ทางบริษัทแอสตราเซเนกาจะยืนยันว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและปลอดภัย ฉีดไปทั่วโลกแล้วกว่า 34,000,000 โดส แต่เมื่อมีคำแนะนำให้ชะลอก่อน ไทยก็ควรชะลอการให้วัคซีนไปก่อน เพื่อรอให้กระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์ก รายงานผลการสืบค้นชัดเจนก่อนว่า อาการลิ่มเลือดที่เกิดขึ้น เกิดจากการฉีดวัคซีนโดยตรงหรือไม่ หากผลการตรวจสอบไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็จะเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนต่อไป พร้อมขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจัดหามาให้กับประชาชน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทีมสาธารณสุขจะสามารถทำได้
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ระบุว่า แอสตราเซเนกาได้ส่งวัคซีนให้กับ 17 ประเทศในสหภาพยุโรป และมีการทยอยฉีด แต่ในเดนมาร์กมีผู้ป่วย 1 รายที่เสียชีวิต และมีอีกหลายรายที่เกิดลิ่มเลือดตามหลอดเลือดต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์กไม่ได้ระบุว่า เกิดจากการฉีดวัคซีน แต่เป็นขั้นตอนตามปกติเมื่อพบอาการไม่พึงประสงค์ คือชะลอการฉีดและไปสืบค้นหาสาเหตุ ขณะเดียวกัน 6 ประเทศในยุโรป ก็ประกาศหยุดการใช้ แต่เป็นการประกาศชะลอเพื่อความปลอดภัย เพื่อรอผลการสืบค้นของเดนมาร์ก และรอผลตรวจสอบจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ European Medicines Agency (EMA) ซึ่งเมื่อวาน (11 มี.ค.64) EMA ได้ประกาศยืนยันว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกายังปลอดภัย และไม่ได้ประกาศให้หยุดใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกา แต่จะไปสืบค้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งวัคซีนที่แอสตราเซเนกาส่งให้ประเทศทางยุโรป เป็นคนละแหล่งผลิตกับที่ส่งให้กับประเทศไทยและในเอเชีย และยังไม่เคยมีรายงานว่าเกิดอาการลิ่มเลือดจากวัคซีนตัวใด แต่เนื่องจากวัคซีนของแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนใหม่ จึงต้องหาคำตอบให้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อาการลิ่มเลือดนั้น เกิดขึ้นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ขึ้นเครื่องบินแล้วไม่ค่อยได้ขยับตัวหรือไม่ค่อยดื่มน้ำ ทำให้เกิดลิ่มเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำ แล้วบางครั้งหลุดไปอุดตันในปอด ทำให้เลือดไหลกลับเข้าไปปอดไม่ได้ บางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งอาการนี้พบในกลุ่มคนเชื้อชาติแอฟริกันและยุโรปมากกว่าเอเชียถึง 3 เท่า และมีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ในยามปกติ
การฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาในประเทศแถบยุโรป 3,000,000 โดส แล้วเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ 22 คน เสียชีวิต 1 ราย เท่ากับโอกาสการเกิด 7 คน ใน 1 ล้านคน ดังนั้นจึงต้องมีการสอบสวนว่า อาการนี้เกิดขึ้นในภาวะปกติ หรือฉีดวัคซีนแล้วเกิดมากกว่าในภาวะปกติหรือไม่ หากพบว่าฉีดวัคซีนแล้วเกิดภาวะนี้มากกว่าปกติ ก็ต้องไปสืบค้นต่อว่า วัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดได้อย่างไร
นพ.ยง ยกตัวอย่างการฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ในนอร์เวย์ ที่คนเสียชีวิตหลังรับวัคซีนถึง 28 คน แต่ต่อมาพบว่าส่วนใหญ่เกิดในผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 80 ปี ในสถานที่พักคนชรา เมื่อตรวจสอบลึกลงไปก็พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็ฉีดวัคซีนได้ตามปกติ ดังนั้นการชะลอให้วัคซีนแอสตราเซเนกา ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนไม่ดี หรือมีปัญหา แต่เป็นการชะลอเพื่อรอผลตรวจสอบให้ชัดเจน รวมทั้งวัคซีนแอสตราเซเนกาในยุโรปนั้น เป็นส่วนที่ผลิตในยุโรป ส่วนของไทยผลิตในเอเชีย รวมทั้งไทยไม่ใช่ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการชะลอฉีดออกไปก่อนก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากนั้น จึงควรชะลอออกไปก่อน ไม่ใช่ยุติการฉีด
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ระบุว่า เห็นด้วยกับการชะลอฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เพราะยังมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ดังนั้นควรรอการตรวจสอบสอบให้ชัดเจนก่อน เพื่อความปลอดภัยกับประชาชน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แม้จะชะลอการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา แต่การฉีดวัคซีนของซิโนแวคยังเดินหน้าตามปกติ โดยจะทยอยฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่วางไว้