รอก่อน!รมว.คมนาคมย้ำ กำหนดความเร็วรถ 120 กม./ชม.ยังไม่มีผล ลองคิกออฟสายเอเชียก่อน

11 มีนาคม 2564, 18:19น.


          หลังกระทรวงคมนาคม ประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงดังกล่าวนับเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพการจราจร และการเดินทางของประชาชนในปัจจุบัน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัย แต่แม้กฎกระทรวงประกาศออกมาแล้วนั้น จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที ซึ่งจะต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการก่อน โดยรอให้ผู้อำนวยการทางหลวงออกประกาศว่า ถนนเส้นใดสามารถใช้ความเร็วตามกฎกระทรวงประกาศได้



          เบื้องต้น จะนำร่องทดลอง (คิกออฟ) ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) ตามที่กฎกระทรวงกำหนด ในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง กม. ที่ 4+100-50+000 ระยะทางประมาณ 50 กม. โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน มี.ค.นี้ และจะทยอยประกาศเพิ่มมากขึ้นในอนาคต พร้อมกันนี้ ได้เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษา หรือสถาบันการศึกษา เพื่อประเมินผลการดำเนินการดังกล่าวด้วย โดยต้องการดำเนินนโยบายดังกล่าวให้แล้วเสร็จครบทั้งหมดภายในปี 2564



          นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจเส้นทางถนนของแขวงทางหลวง และแขวงทางหลวงชนบททั่วประเทศกว่า 12,000 กม. ที่มี 4 ช่องจราจร มีเกาะกลางถนน และไม่มีจุดกลับรถ หรือจุดตัดเสมอเส้นทางว่า มีเส้นทางใด และช่วงไหนบ้าง ที่มีความเหมาะสมสามารถประกาศให้ใช้ตามกฎกระทรวงฯ ได้ และให้สรุปส่งข้อมูลมาให้กระทรวงภายในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค. 2564) ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป



          สำหรับ รายละเอียดของกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทไว้ดังนี้ รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถโดยสารมีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม., รถขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม./ชม., รถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. เว้นแต่รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม./ชม.



          ขณะที่ รถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม., รถโดยสารที่มีที่นั่งโดยสารเกิน 7 คนแต่ไม่เกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม., รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรม ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กม./ชม. และรถอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.



          ส่วนรถอยู่ในช่องเดินรถขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้น มีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น ทั้งนี้ หากในทางเดินรถมีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตราย หรือเขตให้ขับรถช้าๆ ให้ลดความเร็วลง และเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร และในกรณีที่ทางเดินรถ หรือช่องเดินรถใด มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วต่ำกว่าอัตราที่กำหนด ให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้



          นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค.) ทางหลวงและทางหลวงชนบท จะเสนอเส้นทางเพิ่มเติมทั่วประเทศที่จะให้รถสามารถวิ่งทำความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.บนถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไปกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และในวันจันทร์ที่ 15 มี.ค.จะสรุปว่ามีเส้นทางไหนบ้างที่สามารถดำเนินการได้เพิ่ม



          เบื้องต้นในปี 64 นอกจากนำร่องที่เส้นทางทางหลวงหมายเลข 32 (อยุธยา-อ่างทอง)ระยะทาง 50 กม.แล้ว ในระยะที่ 2 จะเริ่มที่ทางหลวงหมายเลข 32 (อยุธยา-อ่างทอง) ระยะทางกม. 50-113, ส่วนระยะที่3 จะเริ่มในปี 65 ที่ทางหลวงหมายเลข 32 (ชัยนาท-นครสวรรค์) ระหว่าง กม.115-150 และทางหลวงหมายเลข35 (สมุทรสงคราม-ปากท่อ) ระหว่างกม.ที่ 60-82



          ส่วนขั้นตอนต่อไปทางหลวงจะเร่งสรุปเส้นทางหลวงที่จะให้วิ่งไม่เกิน 120 กม./ชม.เพิ่มเพื่อให้ในปี 64 มีเส้นทางเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะเร่งทำป้ายบอกความเร็ว ป้ายอัจฉริยะอัตโนมัติ รวมถึงการทำเครื่องหมายบนผิวทางถนนหลวง เพื่อให้ทราบว่าเลนดังกล่าวเข้า และออก สามารถวิ่งทำความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.ได้ นอกจากนั้น จะเร่งสำรวจจุดเพื่อสร้างสะพานลอยคนข้าม และ มอเตอร์ไซค์ข้าม ในเส้นทางดังกล่าวเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยนั้น จะใช้งบประมาณจากจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน(กปถ.) 



แฟ้มภาพ



 

ข่าวทั้งหมด

X