เสียงข้างมาก!ศาลรัฐธรรมนูญชี้ รัฐสภามีอำนาจทำรธน.ฉบับใหม่ได้ แต่ต้องทำประชามติ

11 มีนาคม 2564, 15:32น.


          ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติ คำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ร่วมกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้สภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256(1)ของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยหลังจากที่องค์คณะตุลาการมีการประชุมเป็นการภายใน โดยใช้เวลานานกว่า6 ชั่วโมง ปรากฏว่า ศาลมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องมีการทำประชามติถามความเห็นประชาชน





          นอกจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ยังตีตกคำร้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่พรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และคณะ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) และนายวิรัช รัตนเศรษฐ และคณะ ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานรัฐสภา และนำเข้าสู่วาระการประชุมที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยที่ประชุมลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งสองฉบับในวาระที่หนึ่ง เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำลายหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรัฐสภาและหลักการตรวจสอบโดยประชาชน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 49 มาตรา 255 มาตรา 256 ประกอบ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ



          ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอและยังห่างไกลเกินเหตุที่จะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย 



CR:https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20210311151800.pdf

ข่าวทั้งหมด

X