พบผลข้างเคียงในคนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 8.88% พบอาเจียน มากที่สุด
การฉีดวัคซีนโควิด-19 ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สรุปว่า ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 33,621 คน ใน 13 จังหวัด ทั้งหมดเป็นวัคซีนของซิโนแวค ผู้ได้รับวัคซีนในระยะแรกนี้ส่วนใหญ่ (76.9%) เป็นบุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข/อสม. โดยจังหวัดสมุทรสาครฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมากที่สุด ตามด้วยกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี ผู้ที่ได้รับวัคซีนมากกว่า 91% ไม่มีผลข้างเคียง โดยพบผลข้างเคียงใน 8.88% ของผู้ได้รับวัคซีน แต่อาการไม่รุนแรง
9 จังหวัด ใน 13 จังหวัดเป้าหมาย ฉีดวัคซีนจำนวนเกินกว่า 80% ของเป้าหมายในระยะที่หนึ่งแล้ว
สถิติที่สำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคนไทย 33,621 คนแรก ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 9 มี.ค.64 (10 วัน) มีดังนี้
1. กลุ่มผู้ได้รับวัคซีน เรียงตามลำดับ
- บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข/อสม. 25,896 คน (76.9%) (surgeon)(nurse)
- เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,043 คน (12.0%)
- บุคคลที่มีโรคประจำตัว 395 คน (1.2%)
- ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 98 คน (0.3%)
- ยังรอข้อมูลละเอียดเพื่อจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย 3,216 คน (9.6%)
2. จังหวัดที่ฉีดวัคซีนแล้ว เรียงตามลำดับ
- สมุทรสาคร (9,636 คน)
- กรุงเทพฯ (3,725 คน)
- สมุทรปราการ (2,542 คน)
- นนทบุรี (2,427 คน)
- ชลบุรี (2,360 คน)
- ปทุมธานี (2,338 คน)
- นครปฐม (1,918 คน)
- เชียงใหม่ (1,661 คน)
- ภูเก็ต (1,625 คน)
- ราชบุรี (1,568 คน)
- ตาก (1,304 คน)
- สุราษฎร์ธานี (1,260 คน)
- สมุทรสงคราม (1,189 คน)
3. ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน (stethoscope)
ผู้ที่ฉีดวัคซีน 91.12% ไม่พบผลข้างเคียงใดๆ โดยมีรายงานผลข้างเคียงใน 2,984 คน (8.88% ของผู้ที่ฉีด) ซึ่งผลข้างเคียงเกือบทั้งหมดเป็นอาการไม่รุนแรง เรียงตามลำดับ ได้แก่
- อาเจียน (2.34% ของผู้ที่ได้รับวัคซีน)
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว (2.22%)
- อักเสบบริเวณที่ฉีด (1.76%)
- ปวดศีรษะ (1.45%)
- ไข้ (1.34%)
- ท้องเสีย (1.23%)
นนทบุรี พบแม่ค้าขายผักย่านบางแค ติดเชื้อ เร่งสอบสวนโรค
ศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 จ.นนทบุรี รายงานว่า พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 1 คน เป็นผู้ป่วยรายที่ 295 หรือ รายที่ 179 ของการระบาดรอบใหม่ จ.นนทบุรี เป็นหญิงไทย อายุ 41 ปี ต.มหาสวัสดิ์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี มีอาชีพขายผักที่ตลาดสดหลังห้างวันเดอร์บางแค กรุงเทพฯ และตลาดแสงฟ้าบางแค โดยไม่มีแผงประจำ จะขายเมื่อมีแผงว่าง สามีจะเป็นคนไปรับผักจากตลาดสี่มุมเมืองมาให้ ช่วงเวลาที่ไปรับผัก ประมาณ 02.00- 04.00 น.หลังจากส่งผู้ป่วยที่ตลาดหลังห้างวันเดอร์บางแคแล้ว ขณะขายผักจะใส่หน้ากากอนามัยตลอด ยกเว้นเวลาทานข้าว การทานอาหารในแต่ละมื้อ จะซื้ออาหารแถวๆในตลาดทาน ไม่ระบุร้าน ไม่มีร้านประจำ
-7-8 มี.ค.64 ไม่ได้ขายของเนื่องจากทราบข่าวว่ามีคนติดเชื้อที่ตลาด แต่ไม่ทราบว่าเป็นแผงไหน ขณะที่ตลาดสดหลังห้างวันเดอร์บางแค ปิดตลาดตั้งแต่วันที่ 7-13 มี.ค.64
-9 มี.ค.64 เวลา 01.00-15.00 น. ผู้ป่วยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปขายผักที่ตลาดสดแสงฟ้าบางแค, เวลา 15.00-16.00น. เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอกชน (Rapid Test) หลังจากนั้นโรงพยาบาลแจ้งว่าติดเชื้อ,เวลา 18.00 น. รถพยาบาล จ.นนทบุรี มารับเข้ารักษา, เวลา 20.30 น. โรงพยาบาลส่งตรวจเพื่อยืนยันผล และเวลา 24.00 น. ทราบผลการตรวจพบเชื้อโควิด-19
-10 มี.ค.64 เวลา 08.30 น. ย้ายไปอยู่โรงพยาบาล Cohort ward จ.นนทบุรี
-ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เป็นบุคคลในครอบครัว 2 คน ส่งตัวเข้ารับการกักกันที่ศูนย์กักกัน รอผลการตรวจ
-ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ญาติ 6 คน ให้เฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน
-แหล่งติดเชื้อ: อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน
CR:ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 นนทบุรี
สมุทรสาคร ติดเชื้อรายใหม่ 38 คน พบจากการค้นหาเชิงรุกมากที่สุด
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ตัวเลขเมื่อเวลา 24.00 น. วันที่ 10 มี.ค.64 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานว่า
-พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 38 คน เป็นการพบจากการค้นหาเชิงรุก 19 คน จากการตรวจพบเชื้อโดยโรงพยาบาล 12 คน และจากกลุ่ม Bubble&Sealed อีก 7 คน
-ผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดมีจำนวน 16,722 คน แบ่งเป็นจากการค้นหาเชิงรุก 13,616 คน จากการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล 3,071 คน และจากกลุ่ม Bubble&Sealed อีก 35 คน
-ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล 163 คน
-ผู้ที่อยู่ระหว่างการสังเกตอาการอีก 142 คน
-ขณะที่ผู้ที่รักษาหายจากโรงพยาบาลกับผู้ที่เฝ้าสังเกตอาการจนครบกำหนดแล้วไม่พบเชื้อสามารถกลับบ้านได้รวมทั้งหมด 16,410 คน
-ผู้เสียชีวิตคงที่ 7 ราย
-การค้นหาเชิงรุก เมื่อวันที่ 10 มี.ค.64 ค้นหาเชิงรุกทั้งหมด 1,592 คน
-ยอดสะสมจากการดำเนินการค้นหาเชิงรุกรวม 213,356 คน
- ผลการตรวจแล็บ (10 มี.ค.64) จำนวน 1,277 คน พบผู้ติดเชื้อ 19 คน
- ยอดสะสมจากการตรวจแล็บรวมจำนวนทั้งสิ้น 213,021 คน
- ยอดสะสมผู้พบเชื้อจากการค้นหาเชิงรุกรวมจำนวนทั้งสิ้น 13,616 คน
CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ. สมุทรสาคร
เตรียมเพิ่มพื้นที่ เขาหลัก จ.พังงา เป็นสถานที่กักตัว Area Quarantine รับกลุ่มสแกนดิเนเวีย
หลังจากที่ไทยใช้พื้นที่กักตัวกลุ่มคนที่เดินทางเข้าประเทศในรูปแบบวีซ่าพิเศษเพื่อนักท่องเที่ยว Golf Quarantine จนมาถึง Villa Quarantine ไม่พบการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวที่มากักตัว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กลุ่มนักท่องเที่ยว 58 คน ทีได้กักตัวในโครงการนำร่อง Villa Quarantine ในพื้นที่โรงแรมศรีพันวา จังหวัดภูเก็ต ได้รับหนังสือรับรองการกักกันครบตามระยะเวลาที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว พร้อมเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.64 เป็นต้นไป ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นถึงระบบการจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนในพื้นที่ เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวครั้งสำคัญ จากที่ได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยวที่มากักตัวที่ศรีพันวา พบว่า นักท่องเที่ยวต้องการมาเที่ยวประเทศไทยมาก โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต นักท่องเที่ยวอยากมามาก โดยเมื่อปี 62 ต่างชาติมาเที่ยวภูเก็ต 10 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 470,000 ล้านบาท เป็นรายได้ที่สูงมาก แต่ในปี 63 เรามีรายได้ในภาพรวมทั้งประเทศทั้งคนไทยและต่างชาติ 800,000 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะขยับเป็น 1,200,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 66-67 ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 3.01 ล้านล้านบาท
สิ่งที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ยังไม่เพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อได้ข้อสรุปว่าจะมีการผ่อนคลายให้คนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในลักษณะของ Area Quarantine พร้อมกับกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ จะมีการนำเข้าการประชุม ศบค.ในวันที่ 19 มี.ค.64 ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาระบุแล้วว่า นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 โดส สามารถเข้ามากักตัวในโรงแรมที่จัดเป็น Area Quarantine เป็นเวลา 7 วัน โดยไม่ต้องกักตัวในห้องพัก หลังจากนั้นสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนให้กักตัวในโรงแรมแต่ใช้เวลา 10 วัน แต่หากมาจากแอฟริกาจะต้องกักตัว 14 วัน รวมถึงคนไทยที่มาจากต่างประเทศ โดยมาตรการนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 เป็นต้นไป
ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะร่วมกับจังหวัดต่างๆ ในการนำไปปฏิบัติโดยได้กำหนดพื้นที่นำร่องไว้ 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะนางยวน) เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา) และจะต้องเพิ่มในส่วนของเขาหลัก จ.พังงา เข้าไปด้วย เพราะเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งในส่วนนี้จะนำเสนอไปยังนายกฯ กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.ต่อไป และเสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุขขอวัคซีนให้พนักงานโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัวใน 5 จังหวัดนำร่อง จังหวัดละ 10,000 คน จำนวน 20,000 โดส เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
CR:กระทรวงการท่องเที่ยวฯ
หมอธีระ เตือนอย่าประมาทกับ Vaccine Passport ต้องมีระบบกักตัว-คัดครองเข้มข้น
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เตือนเรื่อง Vaccine Passport โดยระบุว่า หากคิดว่ามี Vaccine Passport แล้ว จะอยู่รอดปลอดภัย ไร้กังวล จะลดวันกักตัวลง ก็ขอบอกตรงๆ ว่าคงไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์ และการได้รับวัคซีนมาแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ และยังมีโอกาสที่จะนำเชื้อมาแพร่ให้แก่คนในประเทศได้ด้วยถ้าระบบการกักตัวไม่เข้มแข็งเพียงพอ
ส่วนหนึ่งของข้อมูล ระบุถึงสถานการณ์การติดเชื้อในบราซิลว่าในระยะหลังจะพบว่าบราซิลมีจำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงกว่าสหรัฐฯ การระบาดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสายพันธุ์ P.1 เป็นหนึ่งในกลุ่มสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ และมีความกังวลว่าจะดื้อต่อวัคซีนและการรักษาด้วย จึงเป็นเหตุผลที่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวและเพื่อให้รัฐระมัดระวังเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้ที่อาจเข้ามาในประเทศ หากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือแม้แต่การรับคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาจากประเทศต่างๆ ทั้งนี้สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งคือ การใช้ระบบการกักตัว 14 วันและตรวจคัดกรองมาตรฐาน
สภาพยาบาลระหว่างประเทศ เผยมีพยาบาลเสียชีวิตถึง 3,000 ราย ใน 60 ประเทศ
สภาพยาบาลระหว่างประเทศ หรือไอซีเอ็น เผยแพร่รายงานในวาระ 1 ปีของการที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ โดยระบุว่า มีพยาบาลเสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างน้อย 3,000 ราย นายโฮเวิร์ด แคทตัน ผู้อำนวยการ ไอซีเอ็น เปิดเผยว่า ข้อมูลนี้มาจากการรวบรวมจาก 60 ประเทศเท่านั้น หมายความว่าความสูญเสียที่แท้จริงจะสูงกว่านี้มาก โดยชี้ว่า ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในระหว่างการแพร่ระบาด ทำให้เกิดความอ่อนเพลียทั้งทางร่างกายและจิตใจ พยาบาลหลายคนพิจารณาว่าจะเลิกอาชีพนี้ หรือเลิกอาชีพนี้ไปแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขาดแคลนพยาบาลที่มีประสบการณ์ในการจัดการกับงานในโรงพยาบาลภายหลังจากที่โรคระบาดยุติลง
ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 13,000,000 คน นอกจากนี้ ทั่วโลกมีพยาบาล 27,000,000 คนโดยมีอยู่ 4,000,000 คนที่จะเกษียณอายุการทำงานภายในปี 2573
รายงานของไอซีเอ็น ระบุว่า ต้องใช้เวลา 3 ถึง 4 ปี ในการผลิตพยาบาลมือใหม่ เมื่อการระบาดใหญ่ผ่านพ้นไปแล้ว คือช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้มาโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคระบาดจะเข้าพบแพทย์ ไอซีเอ็น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศเพิ่มการลงทุนในการฝึกอบรมพยาบาลรุ่นใหม่มากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทั่วโลก และเรียกร้องให้ปรับอัตราเงินเดือนเพื่อสนับสนุนให้พนักงานที่มีอยู่ ทำงานเพื่อสนับสนุนระบบสุขภาพสำหรับวิกฤตในอนาคตต่อไป