สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ยอมรับว่า สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้น หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่หลักสิบต่อเนื่องกว่าสัปดาห์ มีการค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก แม้ภาพรวมคงตัว แต่ยังตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนรายใหม่ โดยวันที่ 15 ก.พ. – 7 มี.ค.64 ตรวจ 3,039 คน พบเชื้อ 6 คน วันที่ 8-9 มี.ค. 64 ตรวจ 724 คน ไม่พบการติดเชื้อ
ส่วน จ.ปทุมธานี พบการติดเชื้อกลุ่มก้อนแรกในตลาด จากนั้นพบอีกกลุ่มที่โรงชำแหละเนื้อสุกร ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในวันที่ 10 มีนาคม อีก 8 คน ทำให้ต้องลดความแออัดในตลาด มีบัตรรับรองปลอดโควิด-19ให้ผู้ค้า
สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักตัวยอดสะสมจนถึงปัจจุบัน มีจำนวน 256,705 คน พบผู้ติดเชื้อ 2,262 คนจาก 85 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 0.88 โดยประเทศต้นทางที่มีการติดเชื้อสูง ทำให้ผู้เดินทางเข้ามามีโอกาสตรวจเจอเชื้อสูงด้วย แต่การพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่กักตัวที่ควบคุมดูแลตามมาตรฐาน ไม่มีการไปสัมผัสคนอื่น เมื่อเจอติดเชื้อส่งเข้ารักษาตามแนวทาง จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด
การฉีดวัคซีนโควิด-19ในไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 9 มีนาคม 2564 รวม 10 วัน มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว 33,621 คน ขณะนี้มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ 2,984 คน คิดเป็นร้อยละ 8.8 ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผลการศึกษาวิจัยทั่วโลกที่พบถึง 1 ใน 3
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เฉวตสรร ย้ำว่า เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วยังต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง เนื่องจากต้องใช้เวลาถึงจะเพิ่มภูมิคุ้มกันจนมีความครอบคลุมสูง และประสิทธิภาพของวัคซีนคือป้องกันการเสียชีวิต การป่วยหนัก ส่วนการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่เชื้อยังต้องรอผลการศึกษาในระยะยาว ดังนั้น หลังฉีดวัคซีนแล้วยังต้องยกการ์ดสูง