นายมูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2549 หนึ่งในผู้นำกลุ่มพันธมิตรวัคซีนเพื่อประชาชน (The People's Vaccine Alliance) องค์กรติดตามการกระจายวัคซีนทั่วโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกๆวินาที ขณะที่ประเทศที่มีฐานะยากจนส่วนใหญ่ยังไม่มีวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชาชนแม้แต่เข็มเดียว นอกจากนี้ กลุ่มประเทศร่ำรวย ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังขัดขวางความพยายามของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เสนอให้องค์การการค้าโลก(WTO) พิจารณายกเว้นการใช้สิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเปิดทางให้กลุ่มประเทศยากจนสามารถจะเข้าถึงวัคซีนเช่น ผลิตวัคซีนใช้เองโดยไม่ละเมิดสิทธิบัตรของเจ้าของวัคซีนเดิม ซึ่งคณะกรรมการข้อตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของการค้า (TRIPS)ขององค์การการค้าโลก(WTO)จะประชุมในวันนี้
นายยูนุส ระบุว่า ท่าทีเช่นนี้ของประเทศที่ร่ำรวย เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง สำหรับกลุ่มประเทศยากจน เพราะการยกเว้นการใช้สิทธิบัตร จะทำให้กลุ่มประเทศยากจนสามารถผลิตวัคซีนอย่างรวดเร็ว และยังแสดงความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้ยาและวัคซีนถูกกระจายไปให้กับประชาชนทั่วโลก ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศที่ร่ำรวยในระยะยาว ทั้งเป็นสาธารณกุศลด้วย
กลุ่มพันธมิตรวัคซีนเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันขององค์กรหลายแห่ง เช่น ออกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam International)องค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านการบรรเทาทุกข์และการพัฒนาแก่ชุมชนที่ยากจนหรือประสบภัยพิบัติทั่วโลก, องค์กร ฟรอนท์ไลน์ เอดส์(Frontline AIDS) องค์กรภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนองค์กรชุมชนที่ส่งเสริมปัญหาเอชไอวี / เอดส์ในประเทศกำลังพัฒนา,โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS)และอีกหลายองค์กร ระบุอีกว่าเรื่องนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มประเทศที่มีฐานะร่ำรวยมุ่งจะรักษาผลประโยชน์ให้กับบริษัทยารายใหญ่ของโลกซึ่งต้องการจะผูกขาดธุรกิจวัคซีนไว้โดยไม่เห็นความสำคัญของเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะในประเทศที่มีฐานะยากจน
ด้านนางกาบรีลา บุชเชอร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรออกซ์แฟม กล่าวว่า การปล่อยให้บริษัทยาชั้นนำของโลกเพียงไม่กี่แห่งเป็นผู้กำหนดชะตากรรมว่าใครควรมีชีวิตอยู่และใครควรตาย เท่ากับกลุ่มประเทศร่ำรวย มีส่วนทำให้ปัญหาฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกยืดเยื้อต่อไปอีกหลายปี ทำให้ประชาชนเสียชีวิตอีกนับไม่ถ้วน
Cr: CNN, AFP