ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30น.วันอังคารที่ 9 มีนาคม 2564

09 มีนาคม 2564, 09:00น.



‘อนุทิน’ เผย อาจสั่งซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกาเพิ่มอีก 10 ล้านโดส  



          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 63,000,000 โดส ครอบคลุมประชาชน 31,500,000 คน หากตัดหญิงตั้งครรภ์และคนอายุน้อยกว่า 18 ปี ก็ยังขาดอีกประมาณ 10,000,000 โดส การหาเพิ่มก็อาจสั่งจากแอสตราเซเนกาเพิ่มได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งการจัดหาต้องบริหารจัดการให้พอดีทั้งงบประมาณ การจัดเตรียม ความสามารถการจัดส่งวัคซีน ไม่ใช่ซื้อได้ถูกแต่ส่งมาปีหน้า หรือซื้อแพงแล้วส่งได้เลย ทุกอย่างต้องบริหารจัดการ หาจุดลงตัว ไม่ล่าช้าจนเกิดอันตราย และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลตามหลักการ



         ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแผนการกระจายวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 117,300 โดส จะกระจายไปใน 5 จังหวัดเพื่อฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คือ กรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และ จ. สมุทรปราการ จังหวัดละหลักหมื่นโดส ส่วนที่เหลือจะสำรองไว้กรณีที่มีพื้นที่ระบาด เช่น จ.ตาก เป็นต้น



CR:สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์



การฉีดวัคซีน ทำให้ปลายปี ต่างชาติเที่ยวไทย 2 ล้านคน



          น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า อัตราการฉีดวัคซีนของตลาดต่างประเทศสำคัญ 10 แห่ง ได้แก่ จีน ยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ รัสเซีย เอเชีย และอาเซียนบางประเทศ ไปถึงช่วงเดือนก.ย.64 ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยราว 1,900,000 คน ในไตรมาส 4 ปีนี้ เมื่อรวมกับช่วง 9 เดือนแรกของปีจะเห็นว่าตัวเลข 2,000,000 คน มีความเป็นไปได้ และประเมินมูลค่าไว้ที่ 220,000 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขวัคซีนพาสปอร์ต สามารถดำเนินการได้ หรือการเดินทางระหว่างประเทศมีข้อจำกัดน้อยลง เช่น การไม่ต้องเข้าสถานที่กักกันของรัฐ 14 วัน



          การฉีดวัคซีนในอัตราเร่งในต่างประเทศอาจจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยมากกว่า 2,000,000 คน อย่างไรก็ตาม คนที่ฉีดวัคซีนอาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่จะมาท่องเที่ยว เช่น กลุ่มแพทย์ กลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจจะต้องเปลี่ยนแผนการตลาดเป็นไทยเที่ยวไทย ควบคู่กันไปด้วย



          การสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทย จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวจะต้องได้รับวัคซีน หากประเมินจากการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ 20 จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจต้องการวัคซีนอย่างน้อย 220,000 โดส ก่อนเดือนต.ค.64นี้ เบื้องต้นทางการอยู่ระหว่างพิจารณาและคงเกิดขึ้นได้หากวัคซีนมาตามแผน

‘เราเที่ยวด้วยกัน’เข้าครม.วันนี้ ขยายเวลาถึง 31 ก.ค.64



          นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มี.ค.64 ในส่วนของภาคท่องเที่ยวจะนำโครงการเราเที่ยวด้วยกันเสนอเข้าพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ  ทั้งการขยายเวลาดำเนินโครงการจนถึงวันที่ 31 ก.ค.64 และเพิ่มจำนวนห้องพักอีก 2,000,000 ห้อง จากเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 6,000,000 ห้อง ในโครงการเฟส 1-2 ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิจนหมดแล้ว การเร่งออกโครงการเราเที่ยวด้วยกันมาก็เพื่อเตรียมใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นท่องเที่ยวในระยะถัดไป หลังจากโควิด-19 เริ่มคลายตัว และคนส่วนใหญ่คลายความกังวลมากขึ้นแล้ว



          ส่วนแนวคิดการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูในภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะขณะนี้ยังเป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ เพราะต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ทั้งในส่วนของการเยียวยาและการพัฒนาภาคท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาการออกโครงการช่วยเหลือในส่วนของโกดังพักหนี้ หรือ Asset Warehousing โดยมีรูปแบบคือ การลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ตีโอนทรัพย์ เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ให้เจ้าหนี้และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืนในอนาคต ด้วยราคาที่ไม่สูงเกิน ซึ่งลูกหนี้จะได้พักภาระหนี้ชั่วคราว และสามารถเช่าสินทรัพย์ต่อเพื่อดำเนินการได้และสามารถซื้อคืนกิจการในราคาที่ตกลงกันไว้ก่อน ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จึงต้องประเมินอีกครั้งว่า หากมีโกดังพักหนี้ออกมาแล้ว การจัดตั้งกองทุนท่องเที่ยวจะยังจำเป็นอยู่หรือไม่



เอกชนเชียงใหม่ หนุนร้านนวดเข้าโครงการคนละครึ่ง ขยายผลไปยังร้านขายของที่ระลึก



           นายอภิลาภ บุญโสภา อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เห็นด้วยหากรัฐบาลขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมให้ร้านนวดแผนโบราณ เข้าร่วมโครงการด้วย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะมีลูกค้าทุกกลุ่มอาชีพ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น เอเชีย ยุโรป สหรัฐฯ ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป กว่าร้อยละ 80  นิยมใช้บริการดังกล่าว เพราะต้องการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและความเมื่อยล้า หากร้านนวดเข้าร่วมโครงการ เชื่อพลิกฟื้นธุรกิจร้านนวด กลับคืนสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น หลังปิดกิจการชั่วคราวกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและโควิด-19 ที่ผ่านมา



          เชียงใหม่มีร้านนวดกว่า 100 แห่ง มีพนักงานบริการกว่า 3,000 คน เดิมมีรายได้เฉลี่ยวันละ 500-1,000 บาท หลังโควิด-19 ระบาดแทบไม่มีรายได้ ทำให้ผู้ประกอบการและพนักงานบางส่วน หันไปประกอบอาชีพอื่น เช่น เปิดร้านอาหาร เสริมสวย ขายออนไลน์ ร้านขายของชำแทน เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว ทำให้ร้านนวดเข้าสู่ภาวะโคม่าบางรายถึงขั้นปิดกิจการ เนื่องจากแบกรับภาระต้นทุนและหนี้สินไม่ไหว



          นอกจาก ร้านนวดแล้ว รัฐบาลควรขยายโครงการดังกล่าว ไปยังร้านขายของที่ระลึก รถเช่า ระบบขนส่งมวลชน และบริษัททัวร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้มีโอกาสฟื้นกิจการให้อยู่รอดได้  ไม่ใช่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนไปสู่ท้องถิ่นหรือชุมชนอย่างเป็นระบบ ภายใต้ความเท่าเทียมด้วย





 



 



 




 

ข่าวทั้งหมด

X