2 นายแพทย์จ.เชียงใหม่ ไม่ผิด ประธานสอบข้อเท็จจริง ยืนยัน ไม่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้วีไอพี

08 มีนาคม 2564, 15:48น.


          ผลการสอบสวนกรณีจังหวัดเชียงใหม่มีการฉีดวัคซีนให้ VIP ลัดคิวแพทย์ ล่าสุด นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวถึงผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่า  จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากผู้แสดงความคิดเห็นในเพจดังกล่าว สอบถามความคิดเห็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนครพิงค์ รวม 20 คน อาทิ แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ คำชี้แจงของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการสอบข้อเท็จจริง ไม่พบผู้ใดที่ได้รับการฉีดวัคซีนโดยไม่อยู่ในรายชื่อในแผนการฉีดในวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทุกรายมีรายชื่อตรงตามบัญชีรายชื่อที่มีอยู่ในแผนของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีขั้นตอนการเตรียมแผนงานวัคซีน เป็นไปตามส่วนกลางกำหนด ได้มีการจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิได้วัคซีน เป็นไปตาม 4 กลุ่ม คือ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ผู้มีโรคประจำตัว และประชาชนทั่วไป ซึ่งจ.เชียงใหม่ได้รับจัดสรรเพราะมีการระบาด และเป็นแหล่งท่องเที่ยว



          แผนการฉีดในวันที่ 1 มี.ค. 2564 ของรพ.นครพิงค์ แบ่งเป็น 1.เจ้าหน้าที่ รพ.นครพิงค์มี 62 คน มีชื่อตรงตามแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 และ 2. เจ้าหน้าที่อื่นๆที่ทำงานสัมผัสกับผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว 78 คน โดยของรพ.นครพิงค์ มีจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากช่วงแรกมีเรื่องการสื่อสาร และการลงโปรแกรมในช่วงวันที่ 27-28 ก.พ. ทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์น้อยกว่าประชาชนทั่วไป



          ส่วนคำว่า VIP ที่ถูกนำไปกล่าวถึง หมายถึงผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานฉีดวัคซีนวันแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ผู้ว่าฯ-รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 5 ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายชื่ออยู่ในแผนการได้รับวัคซีน โดยมี 4 คนที่ได้ฉีดวัคซีนแต่ชื่อไม่ได้ฉีดที่ รพ.นครพิงค์ เพียงแต่มาร่วมพิธีเปิดที่รพ.นครพิงค์ จึงให้ฉีดที่รพ. ประกอบด้วยผู้กำกับ 2 คน ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งวัคซีนที่ฉีดให้ทั้ง 4 คน จะต้องมีการโอนคืนมายังรพ.นครพิงค์ เนื่องจากคณบดีฯต้องฉีดที่รพ.สวนดอก  



          จากนี้จะนำผลการสอบสวนทั้งหมดเสนอต่อ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตามขั้นตอนต่อไป โดยผลการสอบสวนพบว่า นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ และนพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีความผิด



          ส่วนการดำเนินการกับเพจที่ออกมาเผยแพร่เรื่องนี้หรือไม่ นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่า ทางเพจทราบเรื่องนี้ และมีการขอโทษแล้ว ส่วนบุคลากรที่ให้ข้อมูลกับทางเพจนั้น คณะกรรมการฯ ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่เชื่อว่า ผู้ที่ให้ข้อมูลน่าจะทราบเรื่องนี้จากองค์กร และคงรู้แล้วว่าก่อนให้ข้อมูลควรตรวจสอบก่อน



          สำหรับ จ.เชียงใหม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากส่วนกลาง 3,500 โดส จำนวน 1,750 คน โดยแบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 1,450 คน ซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ รพ.อื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และเจ้าหน้าที่ รพ.นครพิงค์ โดยมีเจ้าหน้าที่อื่นๆทื่ทำงานสัมผัสกับผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอีก 300 คน ทั้งนี้ ในส่วนของรพ.นครพิงค์ จำนวนที่ได้รับจัดสรรเท่ากับ 455 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่รพ.มีกว่า 2 พันคน ได้เรียงลำดับตามความเสี่ยง ตั้งแต่เสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง เสี่ยงต่ำ โดยรพ.ดำเนินการให้คนเสี่ยงสูงก่อน

ข่าวทั้งหมด

X