รมว.สธ.ย้ำการฉีดวัคซีนไม่ใช้เอาใจใคร ต้องลดความรุนแรงของโรคได้ชัดเจน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าขณะนี้ไทยจัดซื้อวัคซีนของซิโนแวคแล้ว 2,000,000 โดส แอสตราเซเนกา 26,000,000 โดส และสั่งเพิ่มเติมอีก 35,000,000 โดส โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบอนุมัติจัดซื้อแล้ว เท่ากับไทยจะมีวัคซีนของแอสตราเซเนกา รวม 61,000,000 โดส และมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมทั้งหมด 63,000,000 โดส
นายอนุทิน เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายนี้ แอสตราเซเนกาจะส่งมอบวัคซีนล็อตแรกให้ไทยก่อน 117,000 โดส ซึ่งเป็นการจัดให้ตามคำร้องขอของไทย เนื่องจาก มีเหตุระบาดรอบใหม่เมื่อต้นปี จึงจัดมาให้ไทยได้ใช้ก่อน โดยหลังได้รับมอบแล้วจะส่งให้กรมควบคุมโรค นำไปตรวจสอบประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ก่อนจะแจกจ่ายไปฉีดให้ประชาชนกลุ่มต่างๆให้เร็วที่สุด
สำหรับการบริหารจัดการวัคซีน มีการตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 ตั้งเป้าหมายการฉีดให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่การฉีดพอเป็นพิธี เพราะวัคซีนที่ได้มาแต่ละโดสต้องใช้ความพยายามจากทุกฝ่าย ดังนั้นได้มาแล้วก็ต้องใช้ให้เกิดคุณค่ามากที่สุด จังหวัดที่ได้รับวัคซีนจะต้องเห็นอัตราการลดลงของการระบาด หรือเห็นว่าลดความรุนแรงของโรคอย่างชัดเจน ไม่ใช่การฉีดเพื่อเอาใจใคร
สำหรับวัคซีนของซิโนแวคที่เข้ามา 200,000 โดสแรก ฉีดไปแล้วกว่า 30,000 คน โดยวัคซีนของซิโนแวคและแอสตราเซเนกา มีคุณสมบัติต่างกัน คือ ซิโนแวคจะฉีด 2 เข็มห่างกัน 14-28 วัน ไม่แนะนำให้ฉีดในคนสูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งที่ได้มาล็อตแรก 200,000 โดส จะไม่สามารถฉีดให้กับคนทั้ง 200,000 คนได้ เพราะต้องกันไว้สำหรับฉีดเข็มที่สองในคนที่ได้รับเข็มแรกไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วยและผู้มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง รวมทั้งเป็นการทดสอบระบบทั้งความพร้อมก่อนฉีดและการติดตามอาการหลังฉีด หลังจากนั้นในช่วงเดือนมี.ค.64 วัคซีนซิโนแวคมีกำหนดจะเข้ามาอีก 800,000 โดส ส่วนแอสตราเซเนกาจะเข้ามาอีกในช่วงปลายเดือนพ.ค.หรือต้นมิ.ย.64
ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว เบื้องต้นยังไม่พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ส่วนใหญ่มีอาการข้างเคียงเล็กน้อย มีไข้บ้าง ซึ่งตัวนายอนุทิน รับวัคซีนมาเข้าสู่วันที่ 8 แล้วก็ยังไม่มีอาการข้างเคียงที่เป็นทางลบ
ฉีดวัคซีนแล้ว ต้องเปิดประเทศได้ แต่จะไม่เปิดฟรีเหมือนเดิม
หลังฉีดวัคซีนแล้ว จะปรับมาตรการอย่างไร จะเปิดประเทศอย่างไร การค้า การท่องเที่ยวจะประกอบธุรกิจได้เหมือนปกติที่สุดอย่างไร ยังต้องกักตัวอีกหรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้โจทย์นี้ให้ได้ ฉีดแล้วต้องกล้าเปิดประเทศ แต่ไม่ใช่การเปิดทันที เพราะต้องเก็บข้อมูลให้มากที่สุดว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีอาการอย่างไร ใช้เวลากี่วันจึงจะมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งการรวบรวมข้อมูลของผู้ได้รับวัคซีนจะนำมาประกอบการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ หรือสร้างมาตรการ เพื่อให้กลับสู่สภาพปกติเร็วขึ้น รวมทั้งจะมีการหารือเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต ว่าต้องทำอย่างไรให้ได้รับการยอมรับ ได้มาตรฐานในระดับสากล เพราะมีความกังวลเรื่องเล่มปลอม ลายเซ็นปลอม กรมควบคุมโรค กำลังหาวิธีทำแบบดิจิทัล แต่ต้องคำนึงถึงต่างชาติด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่มีชาติไหนที่ระบุว่า มีวัคซีนพาสปอร์ตแล้ว จะเดินทางได้อิสระ รวมทั้งไทยจะรับวัคซีนพาสปอร์ตจากต่างชาติหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกัน
นายอนุทิน ระบุว่า หลักการที่สำคัญที่สุด คือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นและสร้างมาตรการความปลอดภัยให้ประชาชนในประเทศ และคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ มาทำกิจกรรมต่างๆ ในประเทศไทย โดยยึดหลักการทางการแพทย์ เป็นสำคัญ เบื้องต้น เราคงไม่เปิดฟรีเหมือนเดิม แต่จะต้องพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและกำหนดพื้นที่รองรับเฉพาะอย่างมีหลักการ เพื่อความปลอดภัยและการควบคุมโรค ไม่ให้แพร่ระบาดขึ้นมาอีก
CR:Facebook อนุทิน ชาญวีรกูล
ศบค.ชุดเล็กเตรียมเสนอผ่อนคลาย 3 ระยะ
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ มีการหารือเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในภาคส่วนอื่นๆ โดยเตรียมเสนอให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาในช่วงวันที่ 15-19 มี.ค.นี้ โดยแบ่งระยะผ่อนคลายเป็น 3 ระยะ คือ
-ระยะที่หนึ่ง ช่วงตั้งแต่ 1 เม.ย.64 มีการพิจารณาปรับพื้นที่ระดับสีต่างๆ การผ่อนคลายกระบวนการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ การกำหนดมาตรการกักตัว และการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.64
-ระยะที่สอง ช่วงตั้งแต่ 1 มิ.ย.64 เป็นต้นไป จะมีการนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาใช้เพื่อควบคุมและป้องกันโรค
-ระยะที่สาม ช่วงตั้งแต่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยได้รับวัคซีนมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ก็จะมีการหารือกรณีบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยได้รับวัคซีนจากประเทศต้นทางแล้ว จะผ่อนปรนมาตรการกักตัวอย่างไร
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ยังหารือเกี่ยวกับการทำวัคซีนพาสปอร์ต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จะต้องรอมาตรฐานเดียวกันทั้งโลกที่จะกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แต่ระยะนี้ ไทยสามารถกำหนดใบรับรองให้กับคนไทยที่ได้รับวัคซีนตามมาตรฐานของ WHO แล้ว และเมื่อทั้งโลกได้มาตรฐานการทำวัคซีนพาสปอร์ตแล้ว ก็สามารถปรับใบรับรองดังกล่าวไปเป็นวัคซีนพาสปอร์ตได้ทันที
ส่วนเรื่องการกระจายวัคซีนที่ทยอยได้รับมาอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ย้ำเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนไปยังเมืองเศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะได้รับวัคซีนเป็นแห่งแรกๆ นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าแล้ว อาจรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตำรวจ ทหาร พลเรือนที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง เช่น ในสถานกักกัน หรือในสนามบิน รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ
ส่วนเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะถึงนี้ หลายจังหวัดได้ผ่อนคลายมาตรการ มีการเตรียมจัดงานสงกรานต์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่ง ศบค.เน้นย้ำให้คำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคด้วย โดยเฉพาะการจัดงานในส่วนของภาครัฐ ได้เสนอกระทรวงวัฒนธรรมให้ปรับรูปแบบงานเทศกาลสงกรานต์เป็นแบบนิวนอร์มอล ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมของไทยไว้ด้วย
นครนายก พบสามี-ภรรยา ชาวปราจีนบุรี ติดเชื้อ ขายข้าวแกงให้คนงาน บ.ฟูจิกูระ
กรณีที่มีไทม์ไลน์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายที่ 15 เป็นชายอายุ 60 ปี และ รายที่16 เป็นหญิง อายุ 62 ปี ใน จ.นครนายก แต่ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี โดยทั้งคู่เป็นสามี-ภรรยากัน
สำนักงานสาธารณสุข จ.นครนายก ระบุไทม์ไลน์ว่า ทั้งคู่ จำหน่ายข้าวแกง ให้กับพนักงานในบริษัทฟูจิกูระ ต.บ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ที่มีพนักงานหลายพันคน และ ได้เดินทางไป จ.ปราจีนบุรี ในหลายจุด ในวันนี้ จะมีการตรวจพนักงานในโรงงานดังกล่าว และวันที่ 20 ก.พ.64 เดินทางไปซื้อผักที่ตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี เลือกซื้อผักที่โซนผัก
-ผู้ป่วยรายที่ 15 :ไม่สบายตั้งแต่วันที่ 14ก.พ. 64 ไปหาหมอที่คลินิกหมอพนม จ. ปราจีนบุรี สองครั้ง อาการไม่ดีขึ้น มีอาการถ่ายเหลว จนเมื่อวันที่ 1 มี.ค.64 ไปตรวจตามนัดที่คลินิกอายุรกรรม ศูนย์การแพทย์ฯ อ.องครักษ์ จ.นครนายก และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลตรวจพบเชื้อวันที่ 6 มี.ค.64 มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 5 คน เสี่ยงต่ำ 9 คน แพทย์และพยาบาล จำนวน 36 คน
-ผู้ป่วยรายที่ 16 : มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายที่ 15 ทั้งเรื่องนอนเฝ้าไข้ ไปหาหมอที่โรงพยาบาลด้วย และพบว่าติดเชื้อในวันที่ 6 มี.ค.64 มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 คน เสี่ยงต่ำ 3 คน
CR:สำนักงานสาธารณสุข จ.นครนายก