พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ มีการหารือเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในภาคส่วนอื่นๆ โดยเตรียมเสนอให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาในช่วงวันที่ 15-19 มี.ค.นี้ โดยแบ่งระยะผ่อนคลายเป็น 3 ระยะ คือ
-ระยะที่หนึ่ง ช่วงตั้งแต่ 1 เม.ย.64 มีการพิจารณาปรับพื้นที่ระดับสีต่างๆ การผ่อนคลายกระบวนการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ การกำหนดมาตรการกักตัว และการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.64
-ระยะที่สอง ช่วงตั้งแต่ 1 มิ.ย.64 เป็นต้นไป จะมีการนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาใช้เพื่อควบคุมและป้องกันโรค
-ระยะที่สาม ช่วงตั้งแต่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยได้รับวัคซีนมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ก็จะมีการหารือกรณีบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยได้รับวัคซีนจากประเทศต้นทางแล้ว จะผ่อนปรนมาตรการกักตัวอย่างไร
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ยังหารือเกี่ยวกับการทำวัคซีนพาสปอร์ต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จะต้องรอมาตรฐานเดียวกันทั้งโลกที่จะกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แต่ระยะนี้ ไทยสามารถกำหนดใบรับรองให้กับคนไทยที่ได้รับวัคซีนตามมาตรฐานของ WHO แล้ว และเมื่อทั้งโลกได้มาตรฐานการทำวัคซีนพาสปอร์ตแล้ว ก็สามารถปรับใบรับรองดังกล่าวไปเป็นวัคซีนพาสปอร์ตได้ทันที
ส่วนเรื่องการกระจายวัคซีนที่ทยอยได้รับมาอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ย้ำเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนไปยังเมืองเศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะได้รับวัคซีนเป็นแห่งแรกๆ นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าแล้ว อาจรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตำรวจ ทหาร พลเรือนที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง เช่น ในสถานกักกัน หรือในสนามบิน รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ
ส่วนเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะถึงนี้ หลายจังหวัดได้ผ่อนคลายมาตรการ มีการเตรียมจัดงานสงกรานต์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่ง ศบค.เน้นย้ำให้คำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคด้วย โดยเฉพาะการจัดงานในส่วนของภาครัฐ ได้เสนอกระทรวงวัฒนธรรมให้ปรับรูปแบบงานเทศกาลสงกรานต์เป็นแบบนิวนอร์มอล ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมของไทยไว้ด้วย