นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ในกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มหลัก โดยบริการฉีดที่โรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 4 มี.ค.64 มีผู้รับวัคซีนไปแล้ว 17,697 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร รองลงมาเป็นเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย บุคคลมีโรคประจำตัว และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ส่วนผู้ที่รับวัคซีนแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ พบว่ามี 270 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ของจำนวนผู้ที่ฉีดทั้งหมด ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เช่น ปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีด , คลื่นไส้,เวียนศีรษะ,ปวดกล้ามเนื้อ
ส่วนกรณีบุคลากรทางการแพทย์ หญิง อายุ 28 ปี ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว และพบว่ามีประวัติแพ้ยาเพนนิซิลิน จากไทม์ไลน์ พบว่า ฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 หลังฉีด 30 นาที มีอาการเวียนศีรษะเล็กน้อย แต่ยังทำงานได้ หลังจากนั้น มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะเพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถปฎิบัติงานได้ปกติ จนเวลาประมาณ 16.30 น. ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียนมากขึ้น เหงื่อออก ปลายมือปลายเท้าเย็น แต่ไม่มีผื่นขึ้นตามตัวหรือตัวบวม เมื่อเข้ารับการรักษา อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มีอาการถ่ายเหลว จนวันที่ 3 มี.ค.64 อาการดีขึ้น มีถ่ายเหลวเล็กน้อย แต่ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล
กรณีนี้ คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากมหาวิทยาลัยแพทย์และอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ได้พิจารณาอาการไม่พึงประสงค์ของผู้ได้รับวัคซีนรายนี้ ให้ความเห็นว่า เป็นอาการไม่พึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรง อาการที่เกิดขึ้น “อาจเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่ไม่ใช่อาการแพ้รุนแรง” เพราะสัญญาณชีพ อัตราการเต้นหัวใจ ความดันเลือด อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนอาการถ่ายเหลวพบว่ายังมีอยู่หลังจากอาการอื่นดีขึ้นแล้ว ดังนั้นอาจเป็นผลจากอาหารเป็นพิษอยู่แล้ว
ส่วนที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาเพนนิซิลิน ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ และไม่เป็นข้อห้ามในการรับวัคซีน และยังมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ ให้ความเห็นตรงกันว่า อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นปฎิกิริยาจากวัคซีน แต่ไม่ใช่อาการแพ้รุนแรง สามารถรับวัคซีนเข็มที่สองได้ ภายใต้การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดจากแพทย์
ส่วนสาเหตุอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้หลังรับวัคซีน มีหลายสาเหตุ เช่น ความกลัวเข็มหรือกลัวการฉีดยา ก็ทำให้เกิดอาการเป็นลมหรือเวียนหัวได้ นอกจากนี้หากผู้รับวัคซีนมีอาการป่วยด้วยโรคอื่น เช่น ท้องเสีย หรือเป็นไข้หวัดอยู่แล้ว ก็อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ส่วนอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการข้างเคียงแบบรุนแรง จะเกิดอาการแน่นหน้าอก ปวดศีรษะรุนแรง มีไข้สูง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือชัก หมดสติ ให้ผู้ใกล้ชิดรีบนำพบแพทย์
สำหรับการปฎิบัติก่อนและหลังรับวัคซีน
1.ตรวจสอบผ่านไลน์หมอพร้อมก่อนว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่
2.หากมีโรคประจำตัวเรื้อรัง แพ้ยาหรือวัคซีนชนิดใด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับวัคซีน
3.ไม่ควรกินยาแก้ไข แก้ปวดก่อนฉีดวัคซีน เพราะจะทำให้การตอบสนองของวัคซีนลดลง
4.กินยาอะไรมาบ้าง ให้แจ้งแพทย์เสมอ
5.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ , ผู้ที่กำลังรักษาอาการป่วยรุนแรง หรือมีอาการป่วยก่อนฉีดวัคซีน ให้เลื่อนนัดการฉีดออกไปก่อน
6.ก่อนฉีด พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรงดอาหาร
7.หลังฉีด 30 นาที ให้สังเกตอาการที่โรงพยาบาลที่รับวัคซีนก่อน ถ้ามีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์
8.เมื่อกลับมาสังเกตอาการที่บ้าน อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ผื่นขึ้น บวม ปวดบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งหลังจากรับวัคซีนประมาณ 30 นาที - 2 ชั่วโมง อาการจะลดลง แต่ถ้าไข้สูง รีบพบแพทย์หรือโทรแจ้ง 1669
9.หลังฉีดวัคซีนแล้ว 3 วัน โอกาสแพ้หรือมีผลข้างเคียงจะน้อยมาก แต่ให้สังเกตอาการให้ครบ 30 วัน