เม.ย.-พ.ค. เริ่มเปิดพื้นที่ Area Quarantine ใน 5 จังหวัดนำร่อง
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมทางไกล ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมแผนการเปิดประเทศไทยในรูปแบบต่างๆว่า เบื้องต้นในเดือน เม.ย.-พ.ค.64 จะสามารถเปิดในลักษณะของแอเรีย ควอรันทีน (Area Quarantine) ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาถึงสนามบินเข้าสู่ห้องพัก ปฏิบัติตามที่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือทำการ swab test ก่อนเข้ากักตัวที่โรงแรมเป็นเวลา 14 วัน แบ่งเป็นอยู่เฉพาะในห้องพัก 3 วันแรก เทสต์ครั้งที่ 2 หากไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 อีก 11 วันถัดมาสามารถออกมาใช้ชีวิตนอกห้องพักได้ แต่ยังต้องอยู่ภายในบริเวณโรงแรมให้ครบ 14 วัน ระหว่างนั้นก็ทำการเทสต์เป็นช่วงๆ
เบื้องต้นมี 5 จังหวัดนำร่องได้แก่ เชียงใหม่, ภูเก็ต, กระบี่, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน) และชลบุรี (พัทยา) เนื่องจาก 5 จังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมาท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ปิดกั้นสำหรับจังหวัดอื่นที่จะทำการเสนอตัวเข้ามาร่วมโครงการ และเตรียมเสนอที่ประชุม ศบค. พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ส่วนการออกมาตรการวัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างติดตามประกาศมาตรฐานกลางขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อออกมาตรการให้สอดรับกับมาตรฐานดังกล่าว หวังเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่าปีนี้ น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 5,000,000 คน
ททท. เตรียมเปิดตัว ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เฟส 3 รวม 2 ล้านห้อง ใช้สิทธิถึง ก.ค.64
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกันในระยะสามว่าอยู่ระหว่างประเมินงบประมาณที่เหลือจากการดำเนินโครงการในระยะแรก เบื้องต้น คาดว่า จะเปิดสิทธิห้องพักเพิ่มในระยะ 3 จำนวน 2,000,000 ห้อง ขยายเวลาการใช้จนถึงเดือนก.ค. 64 แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางส่วนเพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น เช่น
-การกำหนดให้ต้องจองล่วงหน้าในช่วง 14 วัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการจองห้องพักล่วงหน้าได้จริงในแต่ละโรงแรม
-กลไกควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณ เช่น การเรียกสอบเอกสารการใช้สิทธิเช็กอินจริงก่อนโอนเงินให้โรงแรมที่พัก จากเดิมที่ธนาคารกรุงไทย จะโอนเงินเข้าระบบตามอัตโนมัติ การนำยอดจองห้องพักพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราการเข้าพักของโรงแรมเฉลี่ยของจังหวัดนั้นๆ ด้วย ซึ่งจะง่ายต่อการประเมินความผิดปกติของการจอง
วันนี้ ททท.จะหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนออกมามากขึ้น และหากผ่านการพิจารณาของสศช. จะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ผู้ว่าฯ ททท.เชื่อว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เบาบางลง บวกกับการเพิ่มวันหยุดยาวน่าจะทำให้ประชาชนสนใจใช้สิทธิมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในระยะถัดไปได้ ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ มีวันหยุดยาว ททท.ยืนยันว่าในปีนี้มีการจัดงานสงกรานต์แน่นอน ส่วนการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวจะออกมาในรูปแบบใดยังต้องพิจารณาในระยะใกล้ๆ อีกครั้ง เพราะมีหลากหลายวิธี อาทิ การเล่นน้ำสงกรานต์แบบวัฒนธรรมดั้งเดิม การฉีดน้ำได้หรือไม่ได้ ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลอีกครั้ง
เร่งสร้างความมั่นใจ! ผู้ค้าในตลาดกลางกุ้งลดลง-เงินหมุนเวียนลดลง50%
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ติดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าภาคการประมง ณ ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ศูนย์กลางค้าขายกุ้งและปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ขณะที่เศรษฐกิจในภาพรวมของตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร แต่เดิมก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาดกลางกุ้งมีเจ้าของแพกุ้งประมาณ 20 ราย และผู้ค้ารายย่อย (ที่มาเช่าแพ) ค้าขายอยู่ไม่ต่ำกว่า 50 ราย มีรายได้หมุนเวียนวันละกว่า 50 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ตลาดกลางกุ้งต้องหยุดค้าขายมาเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน และเมื่อกลับมาเปิดตลาดได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 64 ปรากฏว่ามีเจ้าของแพกุ้งฯ เหลืออยู่ประมาณ 10 กว่าราย และผู้ค้ารายย่อยอีกราวๆ 20 ราย ส่วนที่หายไปนั้นได้ไปเปิดทำการค้าขายที่อื่นแล้ว จึงทำให้เงินหมุนเวียนในตลาดกลางกุ้งลดลงไปด้วยเหลือเพียงแค่เกือบราวๆร้อยละ 50 หรือประมาณ 20 ล้านบาทต่อวันเท่านั้น
ส่วนแรงงานข้ามชาติของแต่ละแพ ก็ยังคงมีการจ้างงานเหมือนเดิม โดยแต่ละแพใช้แรงงานประมาณ 40-50 คน แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปคือ การจ้างงานเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องปฏิบัติตนให้อยู่ภายใต้มาตรการที่สาธารณสุขกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19
ด้านนายจตุพน มลมาลา เจ้าของแพต้นอ้อ บอกว่า ทุกวันนี้ตลาดกลางกุ้งมีสภาพที่ดีขึ้นมาก ทั้งเรื่องความสะอาด และการจัดระเบียบการค้าขาย การทำงาน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการของทางสาธารณสุข เป็นสถานที่ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 แล้ว ส่วนการค้าขายแต่เดิมก่อนเจอพิษโควิดฯ ระลอกที่ 2 นั้นก็เป็นไปอย่างคึกคัก พอตอนนี้เมื่อตลาดเพิ่งเริ่มกลับมาเปิดก็อาจจะยังเงียบเหงาไปบ้าง เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบางรายก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่า ราคาสินค้าจะเป็นอย่างไร คงจะต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง ถึงจะรู้ว่าราคาขยับขึ้นลงมากน้อยแค่ไหน แต่ปัจจุบันราคาก็เริ่มดีขึ้นแล้วมีการขยับขึ้นมาอีกกิโลกรัมละ 30-50 บาท ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีกำลังใจที่จะเลี้ยงกุ้งต่อไป เพราะถ้าราคาตกต่ำมากกว่านี้คนบ่อก็จะอยู่ไม่ได้ ส่วนเรื่องที่อยากจะฝากถึงรัฐบาลคือ การออกใบอนุญาตเพื่อการส่งออก ให้แก่เกษตรกรกุ้งก้ามกรามและปลากะพงขาวในพื้นที่ภาคกลาง เนื่องจากมีเกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและปลากะพงขาวเป็นจำนวนมาก
CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.สมุทรสาคร