สถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ในที่ประชุมสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันที่ได้รับแจ้งจากการระบาดรอบใหม่ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 63 – 3 มี.ค.64 แยกตามความเสี่ยง พบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด เรียงตามลำดับ ได้แก่
-ผู้สัมผัสในครอบครัว 196 คน
-สถานบันเทิง 171 คน ไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 165 คน เชื่อมโยงสมุทรสาคร 149 คน
-ผู้สัมผัสในที่ทำงาน 145 คน
ผลการดำเนินการเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Surveillance) โควิด-19 ในสถานประกอบการ ตลาด และชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า
-ผลตรวจตลาด จำนวน 437 แห่ง รวมจำนวน 44,328 คน พบผู้ติดเชื้อ 20 คน คิดเป็นร้อยละ0.05
-ผลการตรวจสถานประกอบการ จำนวน 175 แห่ง ตรวจครบทุกแห่ง รวมจำนวน 18,437 คน พบผู้ติดเชื้อ70 คน คิดเป็นร้อยละ 0.38
-ผลการตรวจชุมชน จำนวน 12 แห่ง จำนวน 4,906 คน พบผู้ติดเชื้อ 36 คน คิดเป็นร้อยละ 0.73
นอกจากนี้สำนักอนามัย ร่วมกับ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง วางแผนดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนเขตพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดปทุมธานีและสมุทรสาคร รวม 700 ชุมชน 14,200 คน แบ่งเป็น เป้าหมายพื้นที่ 5 เขต ใกล้เคียงจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขนและคลองสามวา รวม 410 ชุมชน ตรวจในชุมชน ๆ ละ 50 คน และเป้าหมายพื้นที่ 6 เขต ควบคุมสูงสุด เขตหนองแขม บางขุนเทียน บางแค จอมทอง บางบอน และภาษีเจริญ รวม 290 ชุมชน ตรวจในชุมชน ๆ ละ 50 คน ทั้งนี้ทั้ง 2 กลุ่มเป้าหมายจะเริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 11-31 มี.ค.นี้
สำหรับแผนและเป้าหมายในการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกรุงเทพมหานคร ระยะแรกเดือนมีนาคม
สัปดาห์ที่ 1 กลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 13 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 3 แห่ง (โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์) และศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ในพื้นที่ 6 เขตเสี่ยง รวม 3,278 คน สำหรับสถานที่ให้บริการฉีดคือโรงพยาบาลต้นสังกัดของบุคลากรกลุ่มเป้าหมาย
สัปดาห์ที่ 2 กลุ่มเป้าหมายคือ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ 6 เขตเสี่ยง สถานที่ฉีดวัคซีนคือโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 3 แห่ง
สัปดาห์ที่ 3-5 กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน 16 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ในพื้นที่ 6 เขตเสี่ยง โดยจะรับบริการฉีดวัคซีน ณ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 3 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 12 แห่ง ทั้งนี้ระยะเวลาการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายอาจมีความล่าช้า เนื่องจากการบริหารจัดการทุกขั้นตอนต้องมีความรอบคอบ และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ได้รับวัคซีนสูงสุด
สำหรับ ประชาชนบางส่วนเห็นว่า มีคุณสมบัติอยู่ในกลุ่มของผู้ป่วยเรื้อรังที่สามารถเข้ารับวัคซีนได้นั้น ไม่ต้องติดต่อเพื่อขอรับบริการแต่อย่างใด ขอให้รอรับการติดต่อกลับจากสถานพยาบาลที่ท่านทำการรักษาอยู่เท่านั้น เนื่องจากโรงพยาบาลที่ทำการรักษาจะเป็นหน่วยงานที่ส่งข้อมูลของผู้ป่วยที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะได้รับวัคซีนเข้าสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุข และหากถึงคิวจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้มารับการฉีดวัคซีนอีกครั้ง และในส่วนของกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีคุณสมบัติอายุ 18-59 ปี และประสงค์จะรับวัคซีนนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถลงทะเบียนผ่านระบบแอปพลิเคชันหมอพร้อมได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ขอให้รอการประกาศจากทางกระทรวงสาธารณสุขก่อนจึงจะสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้