*เมืองไทยวันนี้ 7.30 น. *

19 มกราคม 2558, 07:49น.


กรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของกระทรวงพลังงาน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในกรณีนี้ สปช.ไม่ได้เสนอให้หยุดสร้างความมั่นคงทางพลังงาน แต่ให้ดูว่ามีรูปแบบใดที่เหมาะสมกว่า ซึ่งกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วว่าไทยแลนด์ทรีพลัสดีกว่า เพราะเดิมการแบ่งปันผลประโยชน์คือรัฐกับภาคเอกชนที่จะลงทุน ต้องเอาเงินมารวมกันเพื่อสำรวจ หากพบแหล่งพลังงาน จะมีการตกลงในรายละเอียดเป็นรายกรณีไป แต่ในรูปแบบไทยแลนด์ทรีพลัส จะมีความโปร่งใสชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ และหากเอกชนไม่ดำเนินการตามข้อตกลง รัฐสามารถสั่งระงับให้หยุดดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงพลังงานไปดูในรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขให้มีความรัดกุมมากขึ้น



ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท เรียกร้องให้นายกฯ อย่าเพิ่งเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วน



ด้านการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสัปดาห์นี้ มีวาระสำคัญคือในวันที่ 21 มกราคมนี้จะมีการพิจารณากระบวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่รองประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. ซึ่งจะมีการแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา



จากนั้นในวันที่ 22 มกราคม จะเป็นการแถลงปิดสำนวนในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว



และในวันที่ 23 มกราคมนี้ ช่วงเช้าจะเป็นการลงมติกรณีของนายสมศักดิ์และนายนิคม และในช่วงบ่ายจะลงมติกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์



สัปดาห์นี้ยังต้องติดตามการทำงานของกระทรวงแรงงาน ตามที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ส่งเอกสารเกี่ยวกับการทุจริตในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ย้อนหลังไปถึงปี 2555 ให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการแก้ไข และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อให้ชี้แจงภายใน 30 วัน โดยในเอกสารดังกล่าวระบุถึงการทุจริตในการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ โดยมีอดีตข้าราชการระดับสูงของกรมการจัดหางาน (กกจ.) ที่มีการเปิดบริษัทจัดหางานเองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย



ส่วนเรื่องเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็ก นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ามีข้อสรุปว่าจะจัดสรรช่วยเหลือครอบครัวยากจนหรือเกือบยากจน คือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หรือเดือนละไม่เกิน 3,000 บาท และเด็กที่จะรับเงินช่วยเหลือมีช่วงเด็กอายุ 0-1 ปีรายละ 400 บาทต่อเดือน โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันที่ 20 มกราคมนี้  เบื้องต้นจะมีเด็กประมาณ 170,000 คนอยู่ในกลุ่มนี้ใช้งบประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี และจะทดลองดำเนินการ 1 ปีก่อนเพื่อพิจารณาถึงความสำเร็จ โดยในการประเมินผลจะมีผู้แทนจากยูนิเซฟมาร่วมประเมินด้วย



ส่วนเรื่องการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) รฟม. เปิดเผยว่า บอร์ดมีมติเห็นชอบให้นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการ รฟม. (ฝ่ายปฏิบัติการ) ผ่านการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ โดยจะได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 340,000 บาทต่อเดือน และอยู่ในระหว่างการส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป



ส่วนกรณีที่นายรณชิต แย้มสอาด รักษาการผู้ว่าการรฟม. ยื่นเรื่องฟ้องร้องไปที่ศาลปกครองว่ามีความไม่เป็นธรรมในการกำหนดคุณสมบัติการสมัครผู้ว่าการ รฟม. พล.อ.ยอดยุทธ ขอให้รอผลการพิจารณาของศาลฯ



ยังมีเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขออนุญาตเพิ่มเติมเงื่อนไขการแลกคูปองทีวีดิจิตอล โดยจะขอให้สามารถนำคูปองทีวีดิจิตอล 690 บาทไปแลกซื้อกล่องดาวเทียมด้วย โดยกล่องดาวเทียมจะต้องดูทีวีได้ 2 ระบบ คือทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียม และต้องดูด้วยความคมชัดสูง (เอชดี) เนื่องจากปัจจุบันการประชาชนยังไม่สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้อย่างทั่วถึง เพราะส่วนใหญ่ยังคงดูทีวีผ่านดาวเทียม แต่เป็นกล่องดาวเทียมระบบเดิม ไม่สามารถรับชมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากสามารถนำคูปองมูลค่า 690 บาทไปแลกซื้อกล่องดาวเทียมได้ ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการดาวเทียมจะต้องจัดเรียงหมายเลขช่องให้เป็นเลขเดียวกันทั้งประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนด้วย



ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสทช.แจกคูปองทีวีดิจิตอลไปแล้ว 7,500,000 ใบ แต่มีผู้มาแลกเพียง 2,600,000 ใบ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่ กสทช.คาดการณ์ไว้ และอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลด้วย



*-*

ข่าวทั้งหมด

X