รมว.พณ.ย้ำให้จัดการตามกฎหมาย พ่อค้าทุบราคาปาล์ม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเรื่องพ่อค้ารายใหญ่ที่จังหวัดกระบี่ ทุบราคาปาล์มน้ำมันลงมาวันเดียว กิโลกรัมละ 2 บาทว่า ได้ประสานไปที่ พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ให้ประชุมด่วน ตรวจสอบข้อเท็จจริง เข้มงวดการใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการต่อผู้ประกอบการที่จงใจกดราคารับซื้อผลปาล์มทะลาย โดยไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน
นอกจากนี้ สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดแหล่งผลิตทุกจังหวัด ติดตามการซื้อขายผลปาล์มทะลายในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และถ้าพบว่ามีผู้ประกอบการรายใด ปรับราคารับซื้อผลปาล์มทะลายของเกษตรกรต่ำลง 2 บาท/กก.ภายในวันเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสถานการณ์การผลิตการตลาดปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในปัจจุบัน เป็นการฉวยโอกาสกดราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยไม่เป็นธรรม ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
สำหรับการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมาตรา 29 จงใจทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนของราคา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปัจจุบันสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันอ่อนตัวลงต่อเนื่องในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จากราคาที่เกษตรกรเคยขายได้สูงสุดกิโลกรัมละ 7.70 บาท ช่วงกลางเดือน ก.พ. 2564 เหลือ กก.ละ 5-5.7 บาท ขณะที่ ผลผลิตปาล์มทะลายที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวขายออกสู่ตลาดยังมีปริมาณน้อยกว่าภาวะปกติ
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ชี้ส่งออกสดใส รองรับการค้าโลกฟื้นตัว
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือนม.ค.64 มีมูลค่า 19,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.35 เมื่อเทียบเดือนเดียวกันกับปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบเดือนเดียวกันกับปีก่อน และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบเดือนเดียวกันกับปีก่อน สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกในปี64 เติบโตร้อยละ 3-4
ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ปรับเพิ่มตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปี 64 ขยายตัวจากเดิมร้อยละ 5.2 เป็นร้อยละ 5.5 อีกทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยุโรป รวมไปถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิน 50 ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการผลิตกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ต่อมาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
เร่งรัฐบาล แก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์-ขาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย คือ ปัญหาโลจิสติกส์ ระหว่างประเทศ ประกอบด้วย
-ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีตู้ไปตกค้างในประเทศสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ทำให้ค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการส่งออก
-ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
-แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจาก เมื่อช่วงปลายปี 63 แรงงานเดินทางกลับประเทศ
น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า สรท.มีข้อเสนอแนะกับรัฐบาล
-ขอผ่อนปรนมาตรการต่ออายุแรงงานต่างด้าว ให้สามารถทำงานต่อเนื่องในปี 64
-เร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยการให้รัฐบาลสนับสนุนผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรให้มีความสามารถในการชำระค่าระวางเรือในอัตราที่สูงขึ้น
-ขอให้รัฐบาลเช่าเรือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าขนกลับเข้าประเทศ
-ขอให้รัฐบาล ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบริการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศ
-ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท และใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
CR:แฟ้มภาพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย
การบินไทย หนี้ท่วม 4.1 แสนล้าน ลดพนักงาน 50% ใน 2 ปี
หลังจากที่ การบินไทย ส่งแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 303 หน้า ให้กรมบังคับคดี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหนี้นัดประชุมเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 12 พ.ค.64 เวลา 09.00 น.ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คาดว่า หลังประชุมเจ้าหนี้เสร็จจะยื่นแผนฟื้นฟูฯ ภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค.64 เบื้องต้น คณะผู้ทำแผนเสนอให้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป
การบินไทยจะลดต้นทุนในทุกส่วนของธุรกิจให้มากขึ้น รวมถึงปรับการทำงานขององค์กร ออกมาเป็น 9 แกนหลักในการยกเครื่ององค์กร เช่น
-ลดค่าบุคลากร ที่สูงถึงปีละ 30,000 ล้านบาท ต้องเหลือไม่เกินปีละ 12,000 ล้านบาท
-ลดพนักงานกว่าร้อยละ 50 ใน 2 ปี ให้เหลือ 13,000-15,000 คน
-คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายรวม 50,000 ล้านบาท ภายในปี 65
-คาดว่าจะกลับมามีกำไรในปี 68
-ลดเส้นทางการบินที่ไม่มีกำไร
-บริการลูกค้ากลุ่มพิเศษ
-ลดประเภทเครื่องบินจาก 12 แบบเหลือ 5 แบบ จำนวน 86 ลำ เพื่อตัดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา คาดว่า เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายดีขึ้นภายในปี 68
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า สำหรับ มูลหนี้ของการบินไทยทั้งหมดอยู่ที่ราว 410,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นมูลหนี้จริงประมาณ 170,000 ล้านบาท ยืนยันไม่มีแฮร์คัทหนี้ หรือ การปรับลดมูลหนี้จากเจ้าหนี้ทุกราย แต่จะจ่ายเฉพาะเงินต้น รวมถึงไม่จ่ายหนี้ใน 3 ปีแรก นอกจากนี้ จะขอเพิ่มทุนจำนวน 50,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปี เพื่อให้มีต้นทุนมาหมุนเวียนในกิจการ โดยในกลางปี 64 หรือประมาณเดือนก.ค.64 ต้องหาเงินเข้าระบบ 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานและจ่ายชดเชยพนักงานที่ลาออกโดยอาจจะใช้วิธีกู้เงินจากสถาบันการเงิน การหาพันธมิตรร่วมทุน และการแปลงหนี้เป็นทุน
'หมอธีระวัฒน์' อธิบายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทางทวารหนัก
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กให้ข้อมูลเรื่องการตรวจหาเชื้อทางทวารหนัก ไม่ใช่เป็นการตรวจปกติที่ทำกัน แต่จะมีประโยชน์ในกรณี
1.ผู้ป่วยไม่ได้มาด้วยอาการปกติแบบที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น หรือ ลิ้นไม่ได้รับรส
2.ผู้ป่วยมาด้วยอาการของระบบอื่นโดยเฉพาะทางด้านความผิดปกติของลำไส้ เช่น มีอาการปวดท้องหรือมีอาการท้องผูก แปรปรวน ในกรณีนี้แสดงว่าเชื้อเลือกที่จะเข้าไปในช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ช่องทางมาตรฐาน ดังนั้นจึงเหมาะสมสำหรับการแยงที่ทวารหนัก
3.กรณีที่ผู้ป่วยน่าจะเป็นผู้ติดเชื้อแต่หาเชื้อไม่เจอจากการแยงจมูกและลำคอ เลยนำมาสู่การตรวจทางทวารหนักแทน
การเลือกตรวจหาเชื้อในช่องทางต่างๆกันนั้น พิจารณาจากลักษณะสำคัญของผู้ป่วย เช่น มีอาการอักเสบอย่างรุนแรงของร่างกายหลายระบบทั้งทางผิวหนัง ลิ้น ระบบเลือดและหัวใจ การหาเชื้อในกระแสเลือดเป็นสิ่งที่จำเป็น การหาเชื้อจากทางจมูกและลำคออาจจะไม่เจอ แต่สิ่งที่ง่ายกว่านั้นคือการเจาะเลือดหาหลักฐานของการติดเชื้อจะเป็นวิธีที่สะดวกแม่นยำและรวดเร็ว
เดินหน้ากระตุ้นศก.ใช้รูปแบบรักษามาตรฐานการกักตัวใน Golf Quarantine
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่สนามกอล์ฟอาทิตยา กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสถานกักกันโรคในกิจการกอล์ฟ (Golf Quarantine) ผู้แทนสนามกอล์ฟอาทิตยา กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท นำเสนอข้อมูลการดำเนินงานสถานกักกันโรคในกิจการ Golf Quarantine ของนักกอล์ฟที่เดินทางเข้ามา โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาอยู่ใน Golf Quarantine เป็นนักท่องเที่ยวเกาหลี จำนวน 41 คน นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น จำนวน 1 คน
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ในกลุ่มของ Golf Quarantine มีชาวต่างชาติและผู้ติดตามทยอยเดินทางเข้ามาในระบบแล้วจำนวนหนึ่ง สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงเกิดการจ้างงาน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสถานกักกันใน Golf Quarantine แห่งนี้เพื่อจะได้มีแนวทางการดำเนินงานและบูรณาการร่วมกันในพื้นที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ