ในการเสวนาหัวข้อ “ลักษณะผู้นำที่ดี , วิธีการต่อต้านการทุจริต , หน้าที่พลเมืองที่มีคุณภาพ , การมีส่วนร่วม , และระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่พึงปราถนา ต้องทำอย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ของคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนฯ ซึ่งตัวแทนพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันตก รวม 10 จังหวัดเข้าร่วมการแสดงความเห็นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และมีการสรุปรายงานที่จะนำเสนอเพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยในประเด็น หน้าที่พลเมืองที่มีคุณภาพ มีการเสนอว่า ควรจะต้องมีการปลูกฝังประชาชนให้รู้หน้าที่ของพลเมือง และนำไปสู่การปฏิบัติด้วยเพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริง
ด้านลักษณะผู้นำที่ดี มีข้อเสนอว่า ควรเป็นผู้มีความรู้ และคิดริเริ่มพัฒนาชุมชน พร้อมไปกับมีการทำงานอย่างโปร่งใส ไม่ทุจริต
ด้านการมีส่วนร่วม มีข้อเสนอว่าควรทำให้โครงการต่างๆ ของรัฐ มีการศึกษาอย่างละเอียด และรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน และจะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ คิดให้รอบคอบ คุ้มค่า เพื่อประเทศชาติ
ในเรื่องวิธีการต่อต้านการทุจริต มีข้อสรุปว่า ควรมีองค์กรภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างจริงจัง และทำให้กฎหมายมีความหนักแน่น รัดกุม ชัดเจน และเป็นธรรม
ส่วนในเรื่องระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้น ควรทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งดูแลการพัฒนาทางด้านการศึกษา , สาธารณสุข และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
ด้านนางเตือนใจ สมานมิตร ประธานศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค จ.ลพบุรี ฐานะผู้เข้าร่วมการแสดงความคิดเห็นจากจังหวัดลพบุรี ในกลุ่มเสวนาวิธีการต่อการทุจริต ระบุว่า ขั้นตอนการตรวจสอบการทุจริตในปัจจุบันจะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ตรวจสอบ จึงเห็นว่ารัฐควรทำงานควบคู่กับองค์กรภาคประชาชนที่ถูกเลือกมาจากผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐย่อมมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงาน จึงอาจทำให้เกิดความไว้ใจในการตรวจสอบ รวมถึงอยากให้มีการออกกฎหมายที่ละเอียดในการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง เพราะถ้าหากปราบปรามการทุจริตได้ก็จะทำให้สังคมในภาพรวมดีขึ้น
...ผสข.วิรวินท์ ศรีโหมด