การฉีดวัคซีนโควิด-19 กับการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ “หมอยง” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan วันนี้ (2 มี.ค.) เรื่องโควิด-19 วัคซีน Sinovac วัคซีนเชื้อตาย โดยระบุว่าในระบบภูมิคุ้มกัน การผลิตวัคซีนส่วนใหญ่ จะมุ่งเน้นสร้างภูมิต้านทานต่อหนามแหลม (spike) ของไวรัสที่ยื่นออกไป เช่น วัคซีน mRNA, virus Vector แต่ในความเป็นจริง ในระบบภูมิต้านทานของร่างกายอาจจะยับยั้งไวรัสไม่เฉพาะหนามแหลม spike protein ยังมีแกนเปลือก nucleocapsid
ในการตรวจวัดภูมิต้านทาน เราสามารถตรวจ antibody ต่อการแกนเปลือกนี้ได้ด้วย ซึ่งอาจจะมีความสำคัญช่วยเสริมในระบบภูมิต้านทาน ในการต่อต้านการติดเชื้อของไวรัสก็เป็นได้ วัคซีนเชื้อตายจะมีส่วนประกอบของตัว กระตุ้นภูมิต้านทานหลายอย่างคล้ายกับไวรัสในธรรมชาติ มากกว่าการสร้างเฉพาะส่วนหนามแหลม จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ในระบบภูมิต้านทานโดยเฉพาะส่วนอื่นที่ไม่ใช่หนามแหลม spike
ดังนั้นวัคซีนเชื้อตายที่ทำมาจากไวรัสทั้งตัว อาจจะมีการป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่า โดยเฉพาะการข้ามสายพันธุ์ของไวรัส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ในส่วนหนามแหลมเพราะมีส่วนอื่นเข้ามาช่วยเสริมก็เป็นได้