สธ. ตั้งคณะกรรมการตรวจข้อเท็จจริง กรณีข่าวฉีดวัคซีนให้วีไอพี
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวชี้แจงการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลังมีกระแสข่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มวีไอพี อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งวัคซีนไปให้จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไว้เบื้องต้น 1,450 คน มีการระบุรายชื่อและนัดหมายมาฉีดวัคซีนในวันแรก 140 คน
ก่อนการฉีดวัคซีนวันแรกนั้น มีการเปิดให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัด แสดงความจำนงเข้ารับวัคซีน แต่หลายคน ยังไม่มั่นใจ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแสดงความจำนงจะขอฉีดจำนวนน้อย เพียงแค่ 73 คน แต่เมื่อถึงวันฉีดจริง หลายคนมีความมั่นใจมากขึ้น จึงมาแสดงความจำนงขอฉีดจำนวนมากขึ้น จึงทำให้เกิดความขลุกขลัก และระบบขัดข้อง แต่สุดท้ายแล้ว สามารถฉีดวัคซีนในวันแรกลุล่วงไปได้ สามารถฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย 140 คน แบ่งเป็น
- บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 73 คน
- เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ปฎิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ 67 คน ซึ่งมีทั้งหัวหน้าส่วนปกครอง ทหาร นายทหารยศสัญญาบัตร ตำรวจ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การเผยแพร่ข่าวในโซเชียลว่าฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มวีไอพี ไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด แต่เพื่อความชัดเจนและเพื่อความมั่นใจของประชาชน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และจะรายงานผลการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่ปกปิดข้อมูลให้กับประชาชนรับทราบ
พบคนที่มีอาการไม่พึงประสงค์ 5 คน อาการไม่รุนแรง
ส่วนการฉีดวัคซีนใน 13 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรในล็อตแรก ฉีดไปแล้ว 3,021 คน มีอาการไม่พึงประสงค์ 5 คน คือ มีอาการบวมแดง 4 คน และคลื่นไส้อาเจียน 1 คน แต่อาการไม่รุนแรง และมีการติดตามเฝ้าระวังภายหลังการฉีดอย่างใกล้ชิด
แผนการจัดหาวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำไว้ มีดังนี้
1.วัคซีนจากบริษัทซิโนแวค จำนวน 2,000,000 โดส แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.64 จำนวน 200,000 โดส เป็นการจัดหาวัคซีนแบบเร่งด่วนกระจายไปยัง 13 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฎิบัติหน้าที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มีโรคประจำตัว จังหวัดที่มีการระบาด การฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดท่องเที่ยวที่มีผู้ติดเชื้อ และการเก็บสำรองในภาวะฉุกเฉิน เช่น เกิดการระบาดที่ไม่คาดฝัน
- ช่วงเดือน เม.ย.64 จำนวน 800,000 โดส กระจายใน 18 จังหวัดเพื่อให้ครอบคลุม
2.วัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา จำนวน 26,000,000 โดส เริ่มกระจายในเดือน มิ.ย.-ส.ค.64
3.วัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา จำนวน 35,000,000 โดส เริ่มกระจายในเดือน ก.ย.-ธ.ค.64
นายกฯ ย้ำกำลังหาวัคซีนเพิ่มฉีดให้ทุกคน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โพสต์ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตอนนี้ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว มีการกระจายวัคซีนไปใน 13 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงก่อน เพื่อฉีดให้กับหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานแนวหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามแผนฉีดวัคซีน เดือนนี้และเดือนต่อๆ ไปเราจะได้วัคซีนเข้ามาทุกเดือน จนถึงสิ้นปีรวม 63,000,000 ล้านโดส กระจายไปได้ทั่วประเทศ และฉีดได้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากจำนวนดังกล่าวแล้ว กำลังหาวัคซีนมาเพิ่มเพื่อฉีดให้ได้ทุกคนหรือครอบคลุมให้ได้มากที่สุด อาจจะเป็นวัคซีนตัวเดียวกันหรือวัคซีนใหม่ที่ผ่านการรับรองแล้ว เราดูทุกตัวโดยพิจารณาความเหมาะสมทุกๆ ด้าน
วัคซีนที่เราฉีดกันอยู่ตอนนี้คือ ซิโนแวค จากจีน ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ได้ฉีดไปแล้วเช่นกัน วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนที่ยังไม่มีผลการทดลองที่มากพอในกลุ่มคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เราจึงได้รับคำแนะนำว่า อย่าเพิ่งฉีดให้คนที่มีอายุเกิน 60 ปี รอผลการทดลองอีกสักหน่อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องปลอดภัยหรือไม่ วัคซีนทุกตัวที่ใช้ได้รับการรับรองความปลอดภัย และรับรองว่าได้ผล
ในส่วนตัว นายกฯ หมอแนะนำให้ฉีดวัควีนของแอสตราเซเนกา ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ แต่แอสตรา เซเนกาที่เราได้มา 110,000 โดส ยังอยู่ในขั้นตอนรอเอกสารจากผู้ผลิต ก็ต้องรอก่อน คาดว่าอีกไม่นานก็จะเรียบร้อย ในส่วนตัวจะไปฉีดก่อนก็ไม่ได้ทั้งคนสั่งให้ฉีดและคนฉีดให้ก็จะผิดกฎหมาย
แฟ้มภาพ ทำเนียบรัฐบาล
เมียนมา สั่งให้ทูต และ เจ้าหน้าที่กว่า 100 คน ใน 19 ประเทศ เดินทางกลับ
คณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ หรือรัฐบาลทหารเมียนมา มีคำสั่งเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ให้เจ้าหน้าที่การทูตระดับอัครราชทูตที่ปรึกษาและเลขานุการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการบางส่วน อย่างน้อย 19 ประเทศและดินแดน รวมเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 คน ให้เดินทางกลับมาที่เมียนมา เป็นการด่วนที่สุด
ประเทศที่มีชื่ออยู่ในคำสั่งดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิตาลี ออสเตรีย บราซิล ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เบลเยียม เซอร์เบีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ขณะที่ บุคลากรบางส่วนประจำสถานกงสุลใหญ่เมียนมา ณ เมืองฮ่องกง ได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับเช่นกัน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารเมียนมา ได้โยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่มากกว่า 50 คน จากกระทรวงการต่างประเทศ ในกรุงเนปิดอว์ ให้เตรียมไปรับตำแหน่งที่ว่างลงในแต่ละประเทศ
คณะรัฐประหารของเมียนมา ประกาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ กำชับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ควบคุมสถานการณ์การประท้วงในเมียนมาไม่ให้ใช้กระสุนจริงกับผู้ประท้วง หลังการใช้กำลังสลายการประท้วงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ มีคนเสียชีวิต 18 ราย บาดเจ็บ 30 คน นับเป็นเหตุปะทะที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 อีกทั้งเสียงทักท้วงเรื่อยมาจากประชาคมระหว่างประเทศ คณะรัฐประหารของเมียนมา ระบุว่า มีผู้ประท้วงกว่า 1,300 คนถูกจับกุมระหว่างการประท้วงทั่วประเทศ
วุฒิสภาสหรัฐฯ จะเริ่มอภิปรายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ เปิดเผยว่า วุฒิสภาจะเริ่มอภิปรายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เสนอโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในสัปดาห์นี้ หลังจากพรรคเดโมแครต ยอมถอนข้อเสนอในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสู่ระดับ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง ออกจากมาตรการฉบับนี้ แม้ว่าพรรคเดโมแครต ยอมถอนข้อเสนอในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกจากมาตรการ แต่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ก็จะยังคงผลักดันให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อไป โดยสมาชิกพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันบางส่วนสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552 แม้สมาชิกเหล่านี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับสัดส่วนค่าแรงที่จะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของสหรัฐฯอยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง
เมื่อวันที่ 27 ก.พ.63 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯมีมติด้วยคะแนนเสียง 219 ต่อ 212 เสียง อนุมัติร่างกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เสนอโดยนายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ และจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้กับวุฒิสภาพิจารณาต่อไป สมาชิกสภาพรรคเดโมแครต เร่งที่จะอนุมัติกฎหมายดังกล่าวก่อนที่โครงการช่วยเหลือผู้ว่างงานในสหรัฐฯจะหมดอายุลงในวันที่ 14 มี.ค.64
ด้านสำนักงบประมาณของสภาคองเกรส (CBO) คาดการณ์ว่า หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายไบเดนแล้ว สหรัฐฯ อาจจะต้องใช้เวลานานถึงปี 2567 จึงจะทำให้ตัวเลขจ้างงานกลับสู่การขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพได้อีกครั้ง แต่ในทางกลับกัน การใช้มาตรการดังกล่าวอาจจะทำให้สหรัฐฯ สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ภายในปีนี้