เตรียมเสนอ ศบค.ตั้ง ‘Area Quarantine’ กระจายใน 5 เมืองท่องเที่ยวหลัก
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึง ความคืบหน้าเรื่องการออกมาตรการวัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ระหว่างติดตามประกาศมาตรฐานกลางขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อออกมาตรการให้สอดรับกับมาตรฐานดังกล่าว หวังเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่าปี 64 น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 5,000,000 คน
นอกจากนี้ เตรียมเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ให้มี Area Quarantine เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ากักตัวที่โรงแรมเป็นเวลา 14 วัน
-อยู่เฉพาะในห้องพัก 3 วันแรก
-ส่วนอีก 11 วันถัดมา สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกห้องพักได้ แต่ยังต้องอยู่ภายในบริเวณโรงแรมเท่านั้น
รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มั่นใจว่า รูปแบบนี้จะได้รับการอนุมัติจาก ศบค. ภายในเดือนมี.ค.นี้ และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจบินมาเที่ยวไทยได้ทันที เพราะเป็นสิ่งที่หลายคนรออยู่ ทั้งราคาแพ็กเกจห้องพักยังถูกกว่าแบบ Villa Quarantine
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่า ชาติแรกที่น่าจะมาพัก Area Quarantine คือ รัสเซีย เนื่องจากมีบริษัทนำเที่ยวของรัสเซียแจ้งความประสงค์มาว่ามีความต้องการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) จากรัสเซียมาภูเก็ต วันละ 2 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 300-400 คน ครอบคลุมทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มพักผ่อนทั่วไป เดินทางเดี่ยวๆ และกรุ๊ปทัวร์ ส่วนอีกชาติที่มีดีมานด์เดินทางเข้าไทยเช่นกันคือ อินเดีย โดยเฉพาะกลุ่มจัดงานแต่งงานซึ่งใช้จ่ายสูงมาก
สำหรับโรงแรมที่เสนอตัวเข้าร่วมเป็น Area Quarantine กระจายอยู่ใน 5 เมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่
1.ภูเก็ต 24 แห่ง 2,752 ห้อง
2.ชลบุรี 16 แห่ง 2,522 ห้อง
3.กระบี่ 7 แห่ง 1,024 ห้อง
4.เชียงใหม่ 1 แห่ง 130 ห้อง
5.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) 10 แห่ง 288 ห้อง
รวมห้องพักทั้งหมด 6,500 ห้อง รวมพนักงานโรงแรม 13,000 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เสนอให้ฉีดวัคซีนก่อนเป็น กลุ่มแรกๆ
ทยอยเริ่มฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ 13 พื้นที่เสี่ยง
ไทย เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยง 100,000 คนแรก เน้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ในพื้นที่เสี่ยง 13 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่เสี่ยง และจังหวัดสำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว กลุ่มแรกๆจะเป็นบุคลากรทางแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว หัวใจ เบาหวาน โรคไต และมะเร็ง เป็นต้น รวมถึง เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ปฎิบัติงานมีโอกาสเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย
วันนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 1 ในพื้นที่เสี่ยง จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเดินทางไปดูการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้ประชาชน ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
ผู้บริหารที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน เช่น พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นพ.ศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
นอกจากนี้ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร อีก 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ก็จะดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้บุคลากรทางแพทย์เช่นเดียวกัน
กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากรัฐบาลในระยะแรก จำนวน 66,000 โดส โดยจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งของภาครัฐและเอกชน จำนวน 6,200 คน เมื่อฉีดครบแล้วทั้ง 2 เข็ม ก็จะฉีดให้อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นผู้มีความรู้ด้านการพยาบาลพอสมควร ซึ่งหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จะสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่งจำนวน 800 คน
คาด 1 เดือน คุมโควิดปทุมฯ ได้ หลังพบต่างด้าวติดเชื้อ 26 คน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 4 นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นพ.ประสิทธิ์ มานะเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี ร่วมตรวจรับวัคซีนจำนวน 8,000 โดส และตรวจความพร้อมสถานที่ฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลปทุมธานี โดยจะมีการกระจายวัคซีนให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนในจังหวัดปทุมธานี เพื่อเริ่มฉีดในวันที่ 1 มี.ค. 64 ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่มีโรคประจำตัว ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและแรงงานในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี
นพ.รังสรรค์ บุตรชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ใกล้จะควบคุมได้ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่เนื่องจากมีผู้ประกอบการบางรายที่ปกปิดข้อมูลกับทีมแพทย์ เช่น ผู้ประกอบการแห่งหนึ่งมีโรงงานอยู่ภายนอกโซนกักกัน ไม่ให้ความร่วมมือนำคนงานเข้ามาตรวจทำให้หลุดการสำรวจ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ส่งชุดเข้าไปสแกนพื้นที่เชิงลึก และเข้าตรวจภายหลังทำให้พบการติดเชื้อเพิ่มจากจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 60 คน พบติดเชื้อ 26 คน เพราะฉะนั้นโรงงานนี้จะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ปิดกิจการไปก่อน
จากการที่ได้สุ่มตรวจในหลายพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดปทุมธานี คาดว่า ประมาณ 1 เดือนจะสามารถควบคุมได้ขอให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงไม่ปกปิด ซึ่งเรามีเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ประกอบกับมีรถพระราชทานทุกอย่างพร้อม อยากจะให้ประชาชนทุกคนได้ตรวจถือว่าทุกคนมีความเสี่ยงทั้งนั้น ให้เดินทางมาที่ศูนย์ตรวจข้างโลตัสรังสิต ตรงข้ามฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
สมุทรสาคร ใช้ Bubble and Seal อีก 10 วัน เตรียมเปิดโรงเรียนรอคำสั่งจากศบค.
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตามที่ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ประเมินสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้วเห็นสมควรว่า ยังคงต้องใช้มาตรการ Bubble and Seal ในสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อเกินอัตราที่กำหนด ดังนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จึงพิจารณาให้ใช้มาตรการ Bubble and Seal ต่อไปอีก เบื้องต้นคาดว่าน่าจะใช้ถึงประมาณวันที่ 10 มี.ค.64
ขณะที่ในส่วนของสถานศึกษา คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เห็นชอบที่เสนอเรื่องไปที่ ศบค. ขอให้เปิดโรงเรียนได้ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ในบางประเภทด้วย อยู่ระหว่างรอคำสั่งจากส่วนกลางก่อน จึงจะสามารถออกคำสั่งให้เปิดสถานศึกษาในเร็วๆนี้ได้
‘หมอยง’ ชี้แจง วัคซีนใช้ได้ผลดี อิสราเอล ฉีดเข็มแรกให้ปชช. 80% ติดเชื้อลดลงกว่าครึ่ง
ก่อนหน้านี้ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว "Yong Poovorawan" ระบุรายละเอียดของวัคซีนโควิด-19
-ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 บริษัทซิโนแวค : มีประสิทธิภาพลดความรุนแรงของโรคได้ดี ป้องกันการป่วยที่มีอาการน้อยต้องพบแพทย์แบบผู้ป่วยนอกได้ถึงร้อยละ 70 ป้องกันการป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลได้ร้อยละ 100 และป้องกันการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ไม่ต้องพบแพทย์กว่าร้อยละ 50 สาเหตุที่ยังไม่ฉีดในคนที่มีอายุ 60 ปี เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ มีการศึกษาในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 3 จึงยังไม่ทราบผลในการป้องกันโรค และอาการแทรกซ้อน คาดว่า รอผลการศึกษาประมาณ 2 เดือน เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นอาจปรับเปลี่ยนได้
-จะฉีดวัคซีนได้เมื่อไหร่: กระทรวงสาธารณสุข มีกฎเกณฑ์จัดลำดับการฉีดตามความเสี่ยง ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 220 ล้านโดส บางประเทศ เช่น อิสราเอล ฉีดเข็มแรกครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 80 พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงกว่าครึ่ง อัตราการเสียชีวิตต่อวันลดลง ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนหมู่มาก สามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-อาการแทรกซ้อนของวัคซีน: ข้อมูลของสหรัฐฯ ฉีด 13,000,000 คน มีอาการแพ้รุนแรง 5 คนในล้านคน เกิดอาการขณะอยู่ในโรงพยาบาล ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนภาพรวมหลังการฉีด 220 ล้านโดส มีผู้เสียชีวิต 113 ราย เมื่อสอบสวนแล้วพบว่าไม่มีรายใดที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโดยตรง ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ และโรคประจำตัว อาการที่พบส่วนใหญ่เป็นอาการหลังการฉีดวัคซีนทั่วไป เช่น เจ็บ ปวดเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด มีไข้ จึงขอให้มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน
-ฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่: เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ จึงยังไม่อยากให้ฉีดพร้อมกับวัคซีนอื่น เพราะหากมีอาการข้างเคียงจะไม่ทราบว่าเกิดจากวัคซีนใด จึงให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ ยกเว้นในกรณีป้องกันโรครุนแรงถึงชีวิต สามารถฉีดได้ เช่น ถูกสุนัขกัด จำเป็นต้องฉีดวัคซีนพิษป้องกันโรคสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันบาดทะยัก
-การฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 คนละชนิดได้หรือไม่: ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในวัคซีนโควิด-19 อยู่ระหว่างทำการศึกษา คาดว่า ในอีก 3 - 4 เดือนจะทราบผล จึงขอให้ฉีดชนิดเดียวกันก่อน