การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของคนไทยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า ไทยควรจะวางแผนให้คนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยได้รับวัคซีนเดือนละ 15-20 ล้านโดส และต้องให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนเป็นอย่างช้า เพื่อจะสามารถเปิดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่
นอกจากการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศประมาณ 28 ล้านโดสแล้ว รัฐบาลควรส่งเสริมการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับบริษัทของคนไทยในการผลิตวัคซีน เช่น บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ บริษัทอื่นๆเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาไม่แพงเกินไป หากสามารถทำให้ประชาชนในประเทศเข้าถึงครบถ้วนแล้ว ก็ควรมีแผนการผลิตเพื่อส่งออก “วัคซีนของไทย” ส่งไปขายหรือช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน แม้ไทยและทั่วโลกควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้แล้ว การส่งเสริมอุตสาหกรรมยา วัคซีนและเทคโนโลยีชีวภาพต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องเพื่อสามารถรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ได้ในอนาคต
ส่วนประเด็นการกลายพันธุ์ ทำให้ต้องการปรับเปลี่ยนสูตรของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ไทยจึงจำเป็น และต้องส่งเสริมให้บริษัทคนไทยได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากผลของการฉีดวัคซีนหากสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทั่วถึง สร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ได้โดยเร็ว การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องได้รับผลบวกและกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน
สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องดำเนินการตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศจะเริ่มที่กลุ่มเสี่ยงก่อน ส่วนไทยนั้นต้องวางระบบบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุดอย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงค่อยตัดสินใจเปิดประเทศอย่างเต็มที่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ