หลายประเทศกำลังแข่งกันขยายอิทธิพลด้วยการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่า จีนบริจาควัคซีนผลิตเองให้ 53 ประเทศที่ร้องขอ ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา ประเทศแรกคือปากีสถาน ติดกับอินเดียที่มีปัญหาพรมแดนกับจีน รับวัคซีนของซิโนฟาร์ม 500,000 โดสเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ส่วนเมื่อเดือนมกราคมจีนรับปากบริจาควัคซีนให้เมียนมา 300,000 โดส หลังจากเมียนมาแสดงความสนใจวัคซีนจากอินเดีย ประเทศยุโรปตะวันออกที่มีความสัมพันธ์กับจีนในโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative) ซื้อวัคซีนจีน
ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีและอินโดนีเซียร่วมทดลองวัคซีนจีน ประเทศที่สนใจซื้อวัคซีนจีนมี 27 ประเทศแล้ว ส่วนใหญ่ซื้อวัคซีนจากสหรัฐฯและยุโรปด้วย
ด้านอินเดียในฐานะร้านขายยาของโลกเพราะผลิตวัคซีนร้อยละ 60 ที่ต้องใช้ในประเทศกำลังพัฒนา บริจาควัคซีนให้เมียนมา 1.7 ล้านโดส และให้ฟรีอีกอย่างน้อย 15 ประเทศ มีทั้งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และทะเลแคริบเบียน นอกจากนี้ยังจัดสรรอีกกว่า 36 ล้านโดสให้หลายประเทศทั้งบริจาคและเชิงพาณิชย์ อินเดียคุยว่า วัคซีนที่ผลิตให้แอสตราเซเนกาในชื่อโควิชีลด์และวัคซีนที่พัฒนาเองดูแลง่ายและราคาถูกกว่าวัคซีนผลิตในประเทศอื่น
ส่วนรัสเซียเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 เมื่อเดือนสิงหาคมทั้งที่เพิ่งผ่านการทดลองทางคลินิกระยะสอง เป็นวัคซีนพัฒนาเองชื่อสปุตนิกวี ขณะนี้ใช้ในหลายประเทศที่เป็นอดีตบริวารสหภาพโซเวียต ลาตินอเมริกา แอฟริกา
ขณะที่ยุโรปก็สนใจมากขึ้นเพราะผลการทดลองทางคลินิกระยะสามที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ตของอังกฤษเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์พบว่า ป้องกันการติดโรคโควิด-19 แบบแสดงอาการได้ร้อยละ 91.6 กองทุนลงทุนโดยตรงรัสเซียที่สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนเผยว่า นับจนถึงวันศุกร์วัคซีนนี้ได้รับการอนุมัติแล้วใน 38 ประเทศ ราคาโดสละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 304 บาท) ไม่ถึงครึ่งของวัคซีนสหรัฐฯ ตั้งเป้าผลิตให้ทั่วโลกฉีดได้กว่า 500 ล้านคนภายในปีนี้ แต่จนถึงขณะนี้มีคนในประเทศฉีดครบ 2 โดสเพียง 1.7 ล้านคนเท่านั้น