ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564

26 กุมภาพันธ์ 2564, 09:05น.



พบผู้ติดเชื้อในกทม.เป็นครอบครัว-พนักงานในโรงงานย่านภาษีเจริญ



         กรุงเทพมหานคร เปิดเผยรายละเอียดผู้ติดเชื้อที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้สอบสวนโรคเสร็จแล้วอีก 16 คน เป็นรายที่ 915-930 



         ผู้ติดเชื้อทั้ง 16 คน เป็นผู้ชาย 8 คน และผู้หญิง 8 คน ทั้งหมดเป็นคนไทยที่ทำงานและอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ หลากหลายอาชีพมีทั้งพนักงานบริษัทรับเหมา, นักเรียน-นักศึกษา, ผู้ช่วยพยาบาล, พนักงานธนาคาร, พนักงานบริษัท, ค้าขาย, พนักงานโรงงาน, ดูดวง และ พนักงานขับแท็กซี่



          นอกจากนี้ ยังพบการเดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะ แอร์พอร์ตเรลลิงค์จากสถานีหัวหมากไปสถานีพญาไท สถานีมักกะสัน, BTS จากสถานีพญาไทไปลงสายสีทองสถานีเจริญนคร/สถานีสายหยุดไปลงสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, MRT สายสีน้ำเงินจากสถานีเพชรบุรีลงสถานีวัดมังกรฯ และรถเมล์สาย 140 สายแสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน) กับสาย ปอ.80 สายวัดศรีนวลธรรมวิมล-สนามหลวง



          ขณะที่สถานที่ที่ไปมีหลายจังหวัด ได้แก่ วัดเจดีย์ไอ้ไข่ จ.นครศรีธรรมราช, โรงแรมเอส.22 จ.สุราษฎร์ธานี, ร้านอาหารแลเล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช, ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพฯ, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา, วัดหลวงพ่อปากแดง จ.นครนายก, ย่านเยาวราช กรุงเทพฯ, วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต วัชรพล กรุงเทพฯ, ตลาดถนอมมิตร วัชรพล กรุงเทพฯ, ตลาดโลตัส วัชรพล กรุงเทพฯ, ตลาดคลองเตย กรุงเทพฯ, ตลาดนัด ซ.สุขสวัสดิ์ 26 และ 30 กรุงเทพฯ, ตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี, ตลาดแถว ซ.เพชรเกษม 48 กรุงเทพฯ , ตลาดนัดวัดหนองแขม กรุงเทพฯ, บ่อตกปลาเอื้อสยาม บางกะปิ, เพลินนารี่มอลล์ วัชรพล, ห้างเซียร์ รังสิต จ.ปทุมธานี



แบ่งผู้ติดเชื้อเป็นสามกลุ่มหลักๆ



-รายที่ 915-918 เป็นกลุ่มครอบครัว ญาติพี่น้อง ในกลุ่มอาชีพรับเหมาก่อสร้าง รับเหมาถมที่ใน จ.สมุทรสาคร คนที่ติดเชื้อเดินทางไปในพื้นที่เดียวกัน เช่น  วัดเจดีย์ไอ้ไข่ จ.นครศรีธรรมราช, โรงแรมเอส.22 จ.สุราษฎร์ธานี, ร้านอาหารแลเล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช



-รายที่ 920, 928, 929 และ 930 เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน  



-รายที่ 923 924 925 และ  927 เป็นพนักงานโรงงานแถวบางหว้า เขตภาษีเจริญ พบการติดเชื้อจากการตรวจหาเชื้อเชิงรุก



CR:สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร



รอผลผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 50 คน จากการติดเชื้อในกลุ่มนักกีฬาฟุตซอล 



          ความน่าสนใจของกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์นี้ เป็นทีมฟุตซอลเมืองสมุทรสาคร และทั้งหมดที่เป็นสมาชิกทีมฟุตซอล 11 คนนี้ ติดเชื้อไปแล้ว 7 คน และมี 2คน เป็นคนกรุงเทพฯ นับรวมเป็นยอดผู้ติดเชื้อของกรุงเทพฯ 2 คน สิ่งที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้ติดตามกลุ่มก้อนนี้พบว่า รายงานของผู้ติดเชื้อสัมผัสเสี่ยงสูง หรือ High risk Contact ของกรุงเทพฯอีก  50 คน ซึ่งจะต้องรอยืนยันการติดเชื้อ เพราะการติดต่อของกรุงเทพฯเป็นลักษณะของการเดินทางข้ามพื้นที่ คือนักเรียนอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและข้ามไปเล่นฟุตซอลที่สมุทรสาคร จากนั้นก็กลับมาทำกิจกรรมในโรงเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการเดินทางข้ามพื้นที่และทำให้เกิดการติดเชื้อ 




          จะเห็นลักษณะของการเดินทางข้ามพื้นที่ และทำให้เกิดการติดเชื้อซึ่งที่ศบค.เน้นย้ำคืออย่างแรกคือการติดจากคนใกล้ชิด และคุ้นเคย มีความไว้ใจกัน และอย่างที่สอง คือ โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง ยังต้องจำเป็นต้องเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยและระวังอย่างสูงสุด




สัญญาณดี ยอดป่วยโควิด ต่ำกว่า 100 คน ต่อเนื่อง 6 วัน



         นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวถึง สถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า ประเทศไทยมีตัวเลขติดเชื้อต่ำกว่า 100 คน ติดต่อกันเป็นวันที่ 6 แล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราสามารถตอบโต้สถานการณ์ได้ แม้ไม่ใช่ตัวเลขศูนย์รายก็ตาม



-วันที่ 20 ก.พ. 64 มีผู้ติดเชื้อ 82 คน



-วันที่ 21 ก.พ. 64 ติดเชื้อ 92 คน



-วันที่ 22 ก.พ. 64 ติดเชื้อ 89 คน



-วันที่ 23 ก.พ. 64 ติดเชื้อ 95 คน



-วันที่ 24 ก.พ. 64 ติดเชื้อ 93 คน



-วันที่ 25 ก.พ. 64 ติดเชื้อรายใหม่ 72 คน



ข่าวดี! สมุทรสาคร ติดเชื้อลดลง พบรายใหม่ 19 คน



         สำนักงานสาธารณสุข จ. สมุทรสาคร รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ตัวเลขเวลา 24.00 น.วันที่ 25 ก.พ.64




1.ผู้ป่วยรายใหม่ 19 คน



-เป็นการค้นหาเชิงรุก 5 คน เป็นต่างชาติทั้ง 5 คน



-รักษาตัวในโรงพยาบาล 14 คน เป็นคนไทย 8 คน ต่างชาติ 6 คน



2.ผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 16,272 คน



3.การค้นหาเชิงรุกรวม 195,861 คน



4.การดูแลรักษาในโรงพยาบาลรวม 3,988 คน



5.การสังเกตอาการรวม 12,284 คน





รองผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ยืนยัน ตลาดกลางกุ้งเปิดแน่ 1 มี.ค.



          นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อดูความพร้อมของตลาดกลางกุ้งอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการทำบุญถวายวันอาทิตย์ที่ 28 ก.พ. 64 เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยก่อนที่จะเปิดค้าขายตามปกติอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 1 มี.ค. 64 แต่จะต้องมีการตรวจประเมินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ด้วย



          ด้านเจ้าของแพกุ้ง ก็บอกว่า รู้สึกดีใจที่ตลาดกลางกุ้งจะกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ทั้งผู้ประกอบการในตลาดกลางกุ้งและแรงงานข้ามชาติ ต่างก็ได้ช่วยกันปรับปรุงแก้ไขทำตามมาตรการที่ทางจังหวัดกำหนด และหลังจากนี้ก็จะปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การค้าขายในตลาดกลางกุ้งเป็นไปอย่างปกติและยาวนาน ไม่กลับมาเกิดการระบาดของโรคอีกครั้ง



          สำหรับในตลาดกลางกุ้ง ได้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของตลาด กับ ส่วนของที่พักอาศัย



-พื้นที่ของตลาด มีมาตรการที่ต้องปฏิบัติ เช่น กำหนดทางเข้าออกที่ชัดเจน,มีการคัดกรองทุกคนที่เข้าไปใช้บริการ,สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ, มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล- แผงค้า-โต๊ะและที่นั่งสำหรับการซื้อสินค้าและชำระเงินอย่างน้อย 1-2 เมตร,มีที่ล้างมือ,มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ตลาด-บริเวณที่ให้บริการแผงจำหน่ายอาหารสดหรือแผงชำแหละเนื้อสัตว์สด ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อประจำทุกวัน และล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง, มีพนักงานดูแลรักษาความสะอาดประจำตลาด และบริการเป็นช่วงเวลา,การจัดสภาพแวดล้อมในตลาด ต้องจัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสม,มีมาตรการลดความแออัดในพื้นที่ให้บริการ เช่น กำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ กำหนดระยะเวลาในการซื้อขายให้กับลูกค้าแต่ละคน เป็นต้น , ทำความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมที่ให้บริการในตลาดโดยเน้นบริเวณจุดเสี่ยง, มีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ผู้ค้าและผู้ปฏิบัติงานในตลาด เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ให้หยุดขายและไปพบแพทย์ทันที วางแผนในการซื้อสินค้าเพื่อความรวดเร็วและลดระยะเวลาที่ใช้บริการตลาด ขณะที่มาตรการเสริมเพื่อการป้องกันคือ มีระบบการสั่งซื้อและระบบการชำระเงินออนไลน์



-ส่วนที่พักอาศัย ก็จะต้องเช่าพักอาศัยกันอย่างไม่แออัด มีการรื้อถอนสิ่งต่อเติมที่ไม่ได้มาตรฐาน ก่อให้เกิดอันตราย และการออกมาตรการบังคับใช้ตามหลักสุขอนามัย 



CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.สมุทรสาคร 




กพท.ปลดล็อกสายการบินเสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินได้แล้ว



          นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ลงนามในประกาศ กพท. เรื่องแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ราชการกำหนด  มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.64 เป็นต้นไป มีแนวปฏิบัติ ดังนี้



-ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศสามารถให้บริการอาหารและเครื่องดื่มและของที่ระลึกในอากาศยาน ในเส้นทางการบินภายในประเทศได้



-ให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในอากาศยาน ยกเว้นขณะรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม



          ก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ กพท.ได้ออกประกาศ กพท. เรื่อง แนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ฉบับที่ 4  ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในระหว่างการปฏิบัติการบิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.63 จนล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มดีขึ้น และรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด กพท.จึงออกประกาศยกเลิกฉบับที่ 4 และประกาศใช้ฉบับที่ 5



ธปท.คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ไตรมาส 3 ปี 65



          น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยเข้ามาได้ในครึ่งปีหลัง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ต้องติดตามประสิทธิผลวัคซีน แนวทางการเปิดประเทศ และขึ้นอยู่กับหลายประเด็น หวังว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้นในครึ่งปีหลัง ธปท.เตรียมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจในเดือน มี.ค.64 และเผยแพร่ได้ปลายเดือน มี.ค. 64 ซึ่งเบื้องต้นค่อนข้างสอดคล้องกับหน่วยงานอื่นที่ประเมินออกมา



          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่า จะปรับลดลงบ้าง จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้ในไตรมาส 3 ปี 65 จากเดิมคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2 ปี 65 ซึ่งจะช้ากว่าเดิม 1 ไตรมาส โดยยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม เช่น เรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการที่หมดลง และรายได้ภาษีรัฐอาจจะจัดเก็บได้น้อยลง เพราะรายได้ประชาชนลด และมีผลต่อแรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป ดังนั้นในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมาก



         จากการสำรวจหลังโควิด-19 ระบาดรอบใหม่พบว่า



-ผู้ประกอบอาชีพหาบเร่และแผงลอย รายได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 50



-ผู้ประกอบการเดินรถอิสระ เช่น แท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง รายได้ลดลงร้อยละ 60-90



-ร้านสปาและร้านนวดได้รับผลกระทบรุนแรง โดยรายได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 และอาจลดลงถึงร้อยละ 90 ในบางพื้นที่




 

ข่าวทั้งหมด

X