นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวถึง ความพร้อมของโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครว่าบุคลากรของกรุงเทพมหานครมีประสบการณ์ในการฉีดวัคซีน แต่สิ่งที่ประชาชนต้องเตรียมคือ ต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิฉีดวัคซีน และลงเวลานัดหมาย เลือกโรงพยาบาลที่สะดวก เพื่อประหยัดเวลาในการรอคอย อย่างไรก็ตามหากไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า กรุงเทพมหานครได้เตรียมเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนในระบบหมอพร้อม และทำการนัดหมายให้ ในการฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สองควรไปฉีดที่โรงพยาบาลเดียวกัน และเมื่อถึงวันนัดหมายฉีดวัคซีน ให้เตรียมร่างกายให้พร้อม รับประทานอาหารและดื่มน้ำตามปกติ มาถึงโรงพยาบาลก่อนเวลานัดหมาย หากมีไข้สามารถโทรมาเลื่อนนัดได้
วันนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับผู้แทนโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ 6 เขตที่ให้บริการวัคซีน โควิด-19 ในระยะแรก รวมทั้งสิ้น 16 โรงพยาบาล เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนให้ประชาชน
1.เขตจอมทอง ประกอบด้วย โรงพยาบาลบางขุนเทียน 1 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล และโรงพยาบาลบางมด
2.เขตบางขุนเทียน ประกอบด้วย โรงพยาบาลพีเอ็มจี โรงพยาบาลนครธน และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
3.เขตบางแค ประกอบด้วย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลบุญญาเวช
4.เขตบางบอน ประกอบด้วย โรงพยาบาลบางปะกอก 8 และโรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ
5.เขตภาษีเจริญ ประกอบด้วย โรงพยาบาลบางไผ่ โรงพยาบาลมิตรประชา (เพชรเกษม 2) และโรงพยาบาลพญาไท 3
6.เขตหนองแขม ประกอบด้วย โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนลหนองแขม และโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ
กรุงเทพมหานคร ได้รับวัคซีนโควิด-19 จากรัฐบาลในระยะแรก มีจำนวน 66,000 โดส จะสามารถฉีดให้ประชาชนได้จำนวน 33,000 คน เนื่องจาก ต้องให้วัคซีนคนละ 2 โดสหรือ 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างกันประมาณ 2-4 สัปดาห์
-สัปดาห์แรก จะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 6,200 คน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการหากมีอาการไม่พึงประสงค์จะสามารถให้การดูแลได้อย่างทันท่วงที
-สัปดาห์ที่ 2 จะให้วัคซีนแก่อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ด้านการพยาบาลพอสมควร ซึ่งหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จะสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง จำนวน 800 คน
-กลุ่มต่อไป คือ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคเสี่ยง คือ 1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งทุกชนิด ที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด 6. โรคเบาหวาน 7. โรคอ้วน ที่มีอายุ 18-59 ปี จำนวน 23,500 คน
-กลุ่มสุดท้าย คือ ประชาชนทั่วไปและแรงงาน (อายุ 18-59 ปี) จำนวน 2,500 คน
โรงพยาบาลที่จะร่วมให้บริการฉีดวัคซีนจำนวน 15 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 12 แห่ง
7 ขั้นตอนสร้างความเชื่อมั่น รับวัคซีนปลอดภัย
ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกคนต้องวัดไข้ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกคน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประกอบด้วย
-ขั้นตอนที่ 1 เป็นการลงทะเบียน (ทำบัตร) เพื่อยืนยันตัวตน
-ขั้นตอนที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต
-ขั้นตอนที่ 3 คัดกรอง ซักประวัติ และลงนามใบยินยอมการรับวัคซีน
-ขั้นตอนที่ 4 รอฉีดวัคซีน
-ขั้นตอนที่ 5 เข้ารับการฉีดวัคซีน
-ขั้นตอนที่ 6 จะให้ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกรายนั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที โดยได้จัดให้มีพื้นที่ปฐมพยาบาล แพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับดูแลผู้ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ มีการแนะนำวิธีการใช้ Line Official Account “หมอพร้อม” เพื่อติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน 30 วัน และรับการแจ้งเตือนเพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 รวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบทั้ง 2 เข็ม จะได้รับใบยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทาง Line Official Account “หมอพร้อม” อีกด้วย
-ขั้นตอนที่ 7 จุดตรวจสอบก่อนกลับบ้าน เจ้าหน้าที่จะสอบถามอาการ ให้คำแนะนำ และออกใบนัดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จากนั้นจะมีการแสดงผล Dash Board จาก Line Official Account “หมอพร้อม” แสดงการประเมินผลครอบคลุมทุกกระบวนการการบริการ การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้รับ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร