นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลอาญาพิพากษาจำคุกแกนนำ กปปส. ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า ความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160(7) คือการต้องคำพิพากษาให้จำคุก ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้จำคุก ไม่ว่าจะถึงที่สุดหรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงอย่างชัดเจน
ส่วนกรณีบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.นั้น มีบัญญัติไว้ในมาตรา 101(13) หากศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุดให้จำคุก ก็จะยังไม่พ้นจากความเป็น ส.ส. แต่จะมีเหตุอื่นเข้ามา เช่น ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ก็จะโยงไปถึงการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมาตรา 96(2) ที่ระบุไว้ว่า หากเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีจะสิ้นสุดหรือไม่ ก็จะพ้นจากความเป็น ส.ส.ด้วย ส่วนบุคคลที่ศาลยังไม่ได้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และการจำคุกยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ก็จะยังไม่พ้นจากความเป็น ส.ส.
ในกรณีตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะว่างลง ก็ยังมีรัฐมนตรีช่วยว่าการ ทำหน้าที่ในระหว่างนี้ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ยังมีรัฐมนตรีช่วยว่าการอยู่ 2 คน โดยตามลำดับจะเป็นคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ขึ้นมารักษาการรัฐมนตรีว่าการ ในขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่มีรัฐมนตรีช่วยนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เคยมีมติก่อนหน้านี้ว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มารักษาการแทนเป็นอันดับแรก และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรักษาการอันดับที่สอง ซึ่งกรณีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม จะมารักษาการกระทรวงดิจิทัลแทนจนกว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เป็นอย่างอื่น
ส่วนกรณีนางทยา ทีปสุวรรณ ที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญา และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี จะถือว่าถูกตัดสิทธิทางการเมือง จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำตัดสินเป็นอย่างอื่น ก็จะสามารถกลับมามีสิทธิตามเดิมได้ แต่ในบุคคลที่เป็น ส.ส.แล้วถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองไปแล้ว จะไม่สามารถกลับมาเป็น ส.ส.ได้อีก แม้จะได้สิทธิทางการเมืองกลับมา เช่นเดียวกับ รัฐมนตรี ที่เมื่อถูกจำคุกก็จะพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี หากภายหลังศาลยกฟ้อง ไม่จำคุก แต่ความเป็นรัฐมนตรีก็จะไม่ได้กลับคืนมา นี่คือยาแรงของรัฐธรรมนูญ ยกเว้นว่า ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิทางการเมือง ก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่และกลับมาเป็น ส.ส.หรือรัฐมนตรีได้
แฟ้มภาพ