กลับลำ! ผู้เชี่ยวชาญ WHO ปฎิเสธไม่ได้ชี้ว่า จตุจักร เป็นต้นตอเกิดโควิด-19
กรณีที่หนังสือพิมพ์ Politiken ของเดนมาร์ก ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า จตุจักรของไทยอาจเป็นต้นตอในการระบาดของโควิด-19 ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าว ได้ทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ Thea K Fischer, Prof. i PH Virus Inf. og Epidemier ตำหนิสื่อเดนมาร์กที่นำพาดหัวและนำเสนอข่าวบิดเบือน พร้อมทั้งทวีตว่า ไม่ได้ระบุชื่อหรือเจาะจงว่าสวนจตุจักรเป็นต้นตอของการเกิดโรคโควิด-19 เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้นว่า ตลาดเช่นจตุจักร ที่มีการวางกรงสัตว์ซ้อนกัน มีความแออัด มีความเป็นได้สูงที่จะมีการติดเชื้อไวรัสต่างๆ เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ โรคซาร์ส
กรมควบคุมโรค ย้ำไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่าเชื้อติดต่อจากค้างคาวไปสู่คน ปัจจุบันไม่พบการจำหน่ายค้างคาวในตลาดนัดสวนจตุจักร
ประเทศไทย มีการศึกษาวิจัยร่วมกัน ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อง โรคจากค้างคาว เพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง ผลการวิจัยเบื้องต้น พบว่า
-ค้างคาวมงกุฎที่อาศัยในถ้ำเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด มีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 91.5 แต่ไม่สามารถติดต่อไปสู่คน ทั้งนี้การไม่กิน ไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาวนับเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
-กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่มในตลาดนัดสวนจตุจักร เช่น กระรอก แมว สุนัข หนู กระต่าย และสัตว์จากต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ เป็นต้น เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 63 พบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นคนละสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
กรมวิทย์ ตรวจสอบวัคซีนตัวอย่างของซิโนแวค
หลังจากที่วัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนกา เดินทางถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นตัวอย่างที่จะนำมาตรวจสอบคุณภาพด้านต่างๆ แล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบซึ่งจะใช้เวลา 3 วัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอตัวอย่างไป 280 หลอด องค์การเภสัชกรรม ส่งมาให้ 3 กล่อง รวมทั้งหมด 320 หลอด ดังนั้นในส่วนที่เกินมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะดำเนินการส่งคืนให้
CR:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
จีนปลื้มนำรอยยิ้มสู่คนไทย
นายหยาง ซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำ
แอสตราเซเนกา พอใจผลสำเร็จการส่งวัคซีนให้ไทยราบรื่น
นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัทแอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การขนส่งวัคซีนแอสตราเซเนกาชุดแรกมาที่ประเทศไทย นับเป็นความสำเร็จของทีมงานที่ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้การจัดส่งวัคซีนเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถส่งมอบได้เร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้จากแผนเดิม และได้บรรลุอีกหนึ่งเป้าหมายเพื่อตอกย้ำพันธกิจของแอสตราเซเนกาในการผลิตและจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อร่วมคลี่คลายการแพร่ระบาด
โรงพยาบาลสมุทรสาคร 11 แห่ง พร้อมฉีดวัคซีน 1 มี.ค.
หนึ่งในพื้นที่ได้รับจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก คือ จ.สมุทรสาคร จังหวัดเตรียมโรงพยาบาลที่รับหน้าที่ฉีดวัคซีนไว้ทั้งหมด 11 แห่ง รายงานระบุว่า สถานที่ฉีดวัคซีน เป็นโรงพยาบาลของรัฐ 3 แห่ง ส่วนอีก 8 แห่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ประกอบด้วย
1.รพ.สมุทรสาคร อําเภอเมืองสมุทรสาคร
2.รพ.กระทุ่มแบน ตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน
3.รพ.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว
4.รพ.มหาชัย 1 ตําบลมหาชัย อําเภอเมืองสมุทรสาคร
5.รพ.มหาชัย 2 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน
6.รพ.มหาชัย 3 ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร
7.รพ.วิชัยเวช สมุทรสาคร ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร
8.รพ.วิชัยเวช อ้อมน้อย ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน
9.รพ.วิภาราม สมุทรสาคร ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร
10.รพ.เอกชัย ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร
11.รพ.เจษฎาเวชการ ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร
นพ.ณเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ร่วมวางแผนกับโรงพยาบาลหลายแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อม รวมถึงมีการซักซ้อมขั้นตอนสำหรับฉีดวัคซีน ซึ่งมีทั้งหมด 8 ขั้นตอน คาดว่า จะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.64 เป็นต้นไป ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกของจังหวัดสมุทรสาคร ขณะนี้ได้แบ่งกลุ่มเป็น 3 ประเภทก่อน คือ
-กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจาก วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับมาล็อตแรกเป็นวัคซีนที่ป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ฉะนั้นต้องฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงสุดก่อน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มคนทำงานหน้าด่าน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทหาร ตำรวจ ปกครอง อาสาสมัครสาธารณสุข ที่ทำงานในพื้นที่
-ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และโรคเรื้อรัง ที่อาจเสียชีวิตได้
-กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 18–59 ปี ขึ้นไป เนื่องจากวัคซีนล็อตแรกที่จะได้รับมานี้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 – 59 ปี ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่ราวๆ ไม่เกิน 10,000 คน
ส่วนการประกาศขอเลื่อนการลงทะเบียนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด นพ.สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ชี้แจงว่า การเปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนในรอบแรก เป็นการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีน เพื่อนำมาวางแผนแต่อาจจะยังไม่ทั่วถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย จึงต้องประกาศเลื่อนออกไปก่อนเตรียมเปิดลงทะเบียนอีกครั้งเร็วๆนี้
กทม.ซ้อมขั้นตอนฉีดวัคซีนที่ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน
โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่พร้อมจะให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในระยะแรก ประกอบด้วย
-โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
-โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
-โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
วันนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ซ้อมขั้นตอนการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ก่อนเริ่มบริการฉีดจริง โดยจะมีการจัดคิวให้บริการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลสังกัดกทม.ทั้ง 8 แห่ง
กทม.จะได้รับวัคซีนล็อตแรกจำนวน 66,000 โดส ฉีดได้ 33,000 คน จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อน โดยพื้นที่เป้าหมายกลุ่มแรก คือ เขตที่มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร ที่เป็นเขตที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่จำนวนมาก ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตหนองแขม เขตจอมทอง เขตบางแค และเขตภาษีเจริญ สำหรับกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ และประชาชนทั่วไปน่าจะได้รับวัคซีนช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.64
แม่สอด คลายล็อกดาวน์ คลังรถจักรยานคลัง 9 ไม่พบติดเชื้อเพิ่ม
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นอำเภอเดียวของจังหวัดที่มีการระบาดรุนแรงจนเป็นพื้นที่สีแดงมาระยะหนึ่ง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถควบคุมพื้นที่การระบาด จนมีการเปลี่ยนพื้นที่สีแดงเป็นสีส้ม เป็นพื้นที่เฝ้าระวังแล้ว นอกจากนี้พื้นที่ถูกล็อกดาวน์ที่เหลือ 1 แห่ง คือ คลังรถจักรยานคลัง 9 ท่าเรือที่ 13 บ้านท่าอาจ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด คลายล็อกดาวน์แล้ว หลังจากมีการตรวจซ้ำกลุ่มเสี่ยงรอบสุดท้ายจำนวน 186 คน ไม่พบติดเชื้อเพิ่ม
อ.แม่สอด ได้รับการจัดสรรวัคซีนมาจำนวน 5,000 โดส จะมีการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า จำนวน 3,000 โดส และฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานสัมผัสผู้ป่วย 2,000 โดส คาดว่า จะสามารถฉีดได้ตั้งแต่ 1 มี.ค.64 ส่วนวัคซีนล็อตต่อไปจะได้อีก 24,000 โดส และ 48,000 โดส จะทยอยฉีดให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง