ศาลชั้นต้นพิพากษานายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี, นายชุมพล จุลใสจำเลยที่ 3 จำคุก 9 ปี 24 เดือน, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส จำเลยที่ 4 จำคุก 7 ปี, นายอิสสระ สมชัยจำเลยที่ 5 จำคุก 7 ปี 16 เดือน, นายวิทยา แก้วภารดัย จำเลยที่ 6 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท, นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย จำเลยที่ 7 จำคุก 5 ปี, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.จำเลยที่ 8 จำคุก 6 ปี 16 เดือน, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จำเลยที่ 9 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท นายสุวิทย์ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ จำเลยที่ 16 จำคุก 4 ปี 8 เดือน น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก จำเลยที่ 10 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์จำเลยที่ 24 จำคุก 4 ปี 16 เดือน นางทยา ทีปสุวรรณ จำเลยที่ 38 จำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 6,666 บาท จากคดีชุมนุมทางการเมืองเพื่อชุมนุมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป บุกยึดสถานที่ราชการ ปิดกรุงเทพมหานคร (Shutdown Bangkok) ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพมหานคร รวม 7 จุด ระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 - 1 พ.ค. 2557
ส่วนจำเลยที่เหลือ ศาลเห็นว่า เป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม หรือบางคนเป็นแกนนำ แต่กระทำความผิดน้อยกว่าบุคคลอื่น และไม่เคยปรากฏพฤติการณ์รุนแรง และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ควรให้โอกาสปรับตัวเป็นคนดี จึงให้รอการลงโทษ 2 ปี
สำหรับ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 160 (7) การกำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรี ไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม และหากถูกคำพิพากษาไม่ว่าจะรอลงอาญาหรือไม่อย่างไร ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีโดยทันที ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของ ส.ส. ที่คำพิพากษาของศาลที่จะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง ต้องเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดเท่านั้น