กรมควบคุมโรค ชี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าค้างคาวมงกุฎแพร่เชื้อโควิด-19ในไทย

24 กุมภาพันธ์ 2564, 15:49น.


         นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีที่องค์การอนามัยโลก  ระบุว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 มีต้นตอเกิดจากสวนจตุจักรของไทย ก่อนที่จะนำไปติดที่เมืองอู่ฮั่น ของจีน ว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชี้ชัดในเรื่องนี้



-ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเชื้อไวรัสเกิดจากสัตว์ประเภทใด



-ไม่มีข้อสรุปว่าเกิดขึ้นที่ประเทศจีน หรือไม่



ดังนั้น ต้องติดตามข้อมูล ดูหลักฐานที่ชัดเจน



         ในส่วนของไทย กรมควบคุมโรค ทำงานร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างค้างคาวมงกุฎในไทยเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ศึกษาเรื่องนี้เป็นเวลา 20 ปี  เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมทั้งโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำอย่างต่อเนื่อง ผลการวิจัยพบว่า



-ค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวมงกุฎมีรหัสพันธุกรรมที่มีความคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึงร้อยละ 91.58 แต่ไม่ติดต่อระหว่างค้างคาวสู่คน



-การไม่กินไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาว เป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด



         นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้ทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการควบคุมป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาเชื้อโรคที่แอบแฝง รวมทั้งหารือแผนการกำจัดโรคระบาดของเชื้อโควิด-19 ในตลาดค้าสัตว์ป่า  และกำหนดให้มีการทำความสะอาดตลาดค้าสัตว์เลี้ยง ค้าสัตว์ป่า 5 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ตลาดสวนจตุจักร ตลาดมีนบุรี และ ตลาดพุทธมณฑล เป็นประจำ แม้ว่าไม่มีหลักฐานแต่ในฐานะที่ไทยมีระบบเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นและเราทำในเชิงป้องกันเพื่อความปลอดภัยของประชาชน



 

ข่าวทั้งหมด

X